25.9.48

สะพานบรมราชชนนี-สะพานพระราม 8 ซูเปอร์มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน

ชื่องาน: สะพานบรมราชชนนี-สะพานพระราม 8 ซูเปอร์มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน (25 กันยายน 2548)
สถานที่: ณ สะพานพระราม 8 กรุงเทพมหานคร
สรุปผลการประเมิน: 71 คะแนน พอใช้ได้

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: เส้นทางการวิ่ง เริ่มต้นด้วยการวิ่งไปกลับบนสะพานพระราม 8 ก่อนเลย จากนั้นก็ต่อด้วยการวิ่งไปกลับ บนสะพานพระบรมราชชนนี แล้วกลับสู่เส้นชัยบริเวณใต้สะพานพระราม 8 ผั่งธนบุรีอีกครั้ง (เส้นทางนี้เป็นเส้นทางการวิ่งสำหรับซูเปอร์ฮาล์ฟ 34K) ตลอดเส้นทางการวิ่ง การจราจรถูกปิดสนิท เจ้าหน้าตำรวจคอยให้การดูแลอย่างดีเยี่ยม ชนิดที่ว่าไม่เคยเจองานไหนได้มาขนาดนี้ เส้นทางการวิ่ง 34K เป็นเส้นทางเดียวกันกับกรุงเทพมาราธอน แต่ไม่ต้องไปวิ่งต่อบนถนนราชดำเนินให้เสียว...สันหลัง... บนเส้นทางทั้งสองสะพานที่ใช้เป็นเส้นทางการวิ่งเป็นทางเรียบล้วนๆ ดังนั้นการวิ่งจึงไม่ยากนัก ส่วนบรรยากาศก็ใช้ได้ มีเพียงบางจุดเท่านั้นที่ด้านล่างสะพานที่มีการจราจรคับคั่งก็จะได้กลิ่นควันรถบ้างแต่ไม่มาก ในช่วงวิ่งย้อนกลับ แดดจะออกพอดี นักวิ่งที่วิ่งกันช้าๆ ไม่ใช่แนวหน้าก็ได้วิ่งอาบแดดกันหอมปากหอมคอทีเดียว...

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สนามนี้ถือว่าเป็นสนามที่เหมาะสำหรับนักวิ่งทุกระดับ เส้นทาง 34K ก็เหมาะเป็นเส้นทางการซ้อมยาวๆ ได้ดีทีเดียว แต่สนามนี้คงไม่ง่ายนักที่จะมีการจัดวิ่งกันบ่อยๆ เพราะเป็นเส้นทางสายหลักอีกเส้นทางหนึ่ง แต่หากนักวิ่งท่านใดที่ไม่ใช่แนวหน้ามีโอกาสได้ไปวิ่งบนเส้นทางนี้ ก็แนะนำให้หาหมวกติดมือไปด้วยสักใบ เพราะในช่วงย้อนกลับส่วนใหญ่ก็จะวิ่งสวนกลับตอนพระอาทิตย์กำลังขึ้น นอกจากนั้นในการวิ่งระยะยาวๆบนสะพานทั้งสองสะพานนี้หากท่านสามารถพกน้ำติดตัวไปด้วยได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี และนอกจากนั้นโดยเฉพาะนักวิ่งหญิง โปรดคำนึงด้วยว่าการวิ่งยาวบนสองสะพานนี้ท่านไม่สามารถหาห้องน้ำที่ไหนได้เลย ท่านไม่สามารถทำธุรหนักได้เลยแม้แต่น้อย ดังนั้นก่อนการวิ่งควรเตรียมตัวให้พร้อม เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนขึ้นไปวิ่ง ท้องไส้ไม่ดีควรหลีกเลี่ยงเส้นทางนี้... ส่วนบรรยากาศการวิ่งโดยทั่วไป นักวิ่งก็จะเป็นตึกสูงโดยรอบตลอดเส้นทางการวิ่ง บางช่วงที่ถนนด้านล่างมีการจราจรคับคั่งก็จะได้กลิ่นควันขึ้นมาบ้างเล็กๆน้อยๆ...

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: ก่อนอื่นก็ต้องขอบคุณผู้จัดเป็นอย่างสูงที่ต้องติดต่อประสานงานเพื่อให้นักวิ่งได้มีโอกาสขึ้นไปวิ่งบนสะพานหลัก (สะพานบรมราชชนนีและสะพานพระราม 8) ทั้งสองสะพาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว นอกจากนั้นต้องขอขอบพระคุณตำรวจทุกท่าน ทุกนาย ทุกสน.ที่คอยดูแลนักวิ่งและปิดการจราจรได้สนิท 100 เปอร์เซนต์ และขอบคุณน้องๆ ชุดวอร์มสีม่วง ที่มาให้บริการรับสมัคร รับฝากของ ให้บริการน้ำกับนักวิ่งและ ให้บริการในส่วนอื่นๆ.... และสิ่งที่อยากฝากผู้จัดไว้สำหรับงานนี้ การจัดวิ่ง เส้นทางการวิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่งานวิ่งจะประสพความสำเร็จได้ดีก็ต้องประกอบไปด้วยหลายสิ่ง หลายปัจจัย และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อตัวนักวิ่งโดยตรง การปฐมพยาบาลขั้นต้น รถพยาบาลที่เตรียมพร้อมไว้เสมอ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน... นักวิ่งไม่ทุกคนที่สามารถประเมินตัวเองได้เสมอ... และสิ่งสุดท้ายซึ่งอาจจะดูไม่สำคัญเท่าไหร่นักแต่สำหรับนักวิ่งระยะยาว วิ่งมาแล้ว 30 กว่าโล หรือหากเป็นมาราธอนก็ 40 โล ใช้เวลาและพลังกันถึง 3-4 ชม.เป็นอย่างน้อย ดังนั้นเข้าเส้นชัยอาหารสำหรับการฟี้นตัวควรจะมีให้เพียงพอสำหรับนักวิ่งหลังๆบ้าง... นักวิ่งจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ที่อาศัยใจสู้ อยากลอง อยากทดสอบตัวเองว่าจะวิ่งยาวๆได้สักแค่ไหน ทดสอบตัวเองเพื่อเตรียมตัวลงมาราธอน ดังนั้นนักวิ่งส่วนนี้บางครั้งเข้าเส้นชัยมาหลังๆ แล้วมาเจอสภาพต้องไปตายเอาดาบหน้า... เค้าก็หมดกำลังใจ... ช่วยกันรักษากำลังใจและน้ำใจกันเอาไว้...

18.9.48

ทศวรรษโรคกระดูกและข้อ เดิน-วิ่งมินิมาราธอน ครั้งที่

ชื่องาน: ทศวรรษโรคกระดูกและข้อ เดิน-วิ่งมินิมาราธอน ครั้งที่ 4 (18 กันยายน 2548)
สถานที่: กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพ
สรุปผลการประเมิน: 75 คะแนน เกือบดี

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: เส้นทางการวิ่งภายในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นทางเรียบล้วนๆ ไม่มีเนิน วิ่งไป-กลับ ภายในกระทรวงสาธารณสุข เป็นเส้นทางที่สะดวกสำหรับผู้จัดซึ่งไม่ต้องกังวลกับการปิดถนน มีต้นไม้คอยให้ร่มเงาได้บ้างตามเส้นทางการวิ่ง เนื่องจากในบริเวณกระทรวงสาธารณสุขไม่กว้างมากนัก ก็จำเป็นที่จะต้องวิ่งวกไปวนมากันบ้าง นอกจากนั้นงานวิ่งหลายๆงานก็ใช้เส้นทางในกระทรวงทำให้นักวิ่งที่วิ่งบ่อยเบื่อเส้นทาง

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: หากเป็นนักวิ่งมือใหม่หัดขับสนามนี้ก็ถือว่าใช้ได้ดี เหมาะกับการวิ่งระยะสั้น นอกจากนั้นนักวิ่งที่ออกวิ่งไม่ถี่ และไม่สะดวกในการเดินทางออกต่างจังหวัดสนามนี้ก็ถือว่าเป็นสนามที่น่าสนใจ

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: สำหรับสนามนี้ จากวัตถุประสงค์การจัดงาน ทั้ง 4 ข้อ
1. รณรงค์การป้องกันโรคกระดูกและข้อ 2. เสริมสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาขนและผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ 3. ให้ความรู้ทางโรคกระดูกและข้อสำหรับประชาชน 4. ส่งเสริมการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันหรือลดปัญหาโรคกระดูกและข้อ
จะเห็นว่าการจัดงานวิ่งในครั้งนี้ยังไม่มีจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ของงานนี้เพื่อดึงความสนใจให้นักวิ่งมาร่วมงานมากขึ้น
งบประมาณเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญกับการจัดงานในแต่ละครั้ง แต่ไม่อยากให้มองประเด็นนี้เป็นหลัก หากผู้จัดปรับรูปแบบในการจัดอีกสักเล็กน้อยเน้นไปในแนวทางการวิ่งเพื่อสุขภาพ เพื่อการกุศล อาทิ งานวิ่ง กฟผ. ไม่จำเป็นต้องมีถ้วยรางวัลสวยๆแจกเป็นการลดค่าใช้จ่ายตรงจุดนั้นได้อีกทางหนึ่ง และในปัจจุบันก็พบว่านักวิ่งไม่น้อยเลยทีเดียวที่วิ่งกันเพื่อสุขภาพจริงๆ แต่หากจะให้นักวิ่งกลุ่มนี้มาร่วมงาน ผู้จัดก็ต้องค้นหา หรือสร้างเอกลักษณ์ของงานขึ้นมาให้ได้... สนามนี้ก็จะเป็นสนามวิ่งเพื่อสุขภาพและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดงาน และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้น การจัดนิทรรศการเล็กๆในงานและให้มีการตอบปัญหาชิงรางวัล จะเป็นการกระตุ้นนักวิ่งให้เข้ามาร่วมกิจกรรมได้มากยิ้งขึ้น และการจัดกิจกรรมอื่นที่ต่อเนื่องและหวังให้มีนักวิ่งเข้าไปมีส่วนร่วมควรจัดบริเวณหลังเข้าเส้นชัยไม่นานนัก และบริเวณใกล้เคียงกันนั้นเลย

13.9.48

ปรัชญาชีวิต

1. There is no life without DEATH
ไม่มีใครหรอกที่เกิดมาแล้วไม่ตาย

2. ความสุขกับความเหนื่อยยากมักเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้

3. คนเราทุกวันนี้มีชีวิตอยู่กับการแข่งขัน ทั้งกับเวลา คนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งตัวเองจนบางครั้งลืมที่จะหยุดให้ชีวิต และความคิดได้พักผ่อนหากเราหยุดการแข่งขันไว้ชั่วขณะ บางทีเราอาจจะพบได้ว่าแท้ที่จริง สิ่งที่เราต้องการจะได้นั้น มิได้มาด้วยการแข่งขันเสมอไป

4. เหนือกว่าการได้มา คือ การให้

5. ความสุขที่แท้ของชีวิต คือ การที่ได้ก้าวเดินไป ได้ค้นหา ได้ทำ ได้พบ ได้ความสำเร็จ และได้ภูมิใจ

6. เมื่อเดินมาถึงทางแพ่ง หยุดคิดสักนิดนึง ก่อนเลือกที่จะก้าวไปและ อย่าตัดสินใจ เพียงเพราะ ก้าวตามคนอื่น

7. ชีวิตเป็นของเธอแต่ก็ควรเรียนรู้ชีวิต ของคนอื่นด้วยเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน แลกเปลี่ยน แล้วเธอจะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วประสบการณ์ มีค่ามากมายมหาศาลเจ้าของประสบการณ์ ต้องใช้เวลาพ้นผ่านนับเดือน นับปีแต่เราสามารถเรียนรู้ได้ภายในเสี้ยวนาทีในโลกนี้ไม่มีอะไรล้ำค่าเท่า ประสบการณ์

8. ภูเขาเมื่อดูไกลๆ มันก็ดูสวยงามดีแต่พอเข้าไปใกล้ๆ เราก็จะเห็นความขรุขระ ปีนยากลำบากแต่ถ้าเราปีนขึ้นถึงยอดเขา ก็จะเห็นทิวทัศน์สวยงาม ลมเย็นสบายเมื่อเรายังเป็นเด็ก มันคงยากที่จะปีนป่ายแต่เมื่อโตขึ้นมา มีโอกาสที่จะปีนป่ายมันขึ้นไปถ้าเราไม่ปีนเพราะกลัวความลำบาก เราก็จะต้องอยู่แต่เชิงเขาเห็นแต่ภูเขาขรุขระไปจนเราแก่ตาย...

9. ดอกไม้สวยแต่หาง่ายริมถนน มันก็ดูเหมือนไร้ค่าดอกไม้ที่ไม่สวย แต่หายากลำบาก กลับดูสูงค่า มีราคาอย่ากลัวความยากลำบาก เพราะคุณค่าของมันอยู่ที่ตรงนี้ความสำเร็จที่ได้มาง่ายๆ ก็เหมือนดอกไม้สวย ราคาถูก

10. รวงข้าวที่ลีบเบา จะชูช่อสูง แกว่างไปมา เพราะภายในกลวง ไม่มีอะไรรวงข้าวที่หนัก สุกปลั่ง จะค้อมตัวต่ำ นิ่งงดงาม เพราะภายในหนักด้วยคุณค่าและเนื้อหา

11. อย่าเลือกฝันของคนอื่น เพระเห็นว่าเขาประสบความสำเร็จหยุดคิดและทบทวนดูว่า เธอชอบอะไร เธอฝันอะไร เธออยากเป็นอะไร แล้วมุ่งมั่นตั้งใจพาชีวิตเดินไปตามที่ฝัน อย่าเลือกฝันของคนอื่น ตราบใดที่เธอยังต้องหายใจด้วยตัวเอง

12. อย่าเสี่ยงกับการเอาชีวิตและอนาคต ไปแขวนไว้กับคนอื่น หรือแม้แต่ความหวังดีของคนอื่นเพราะไม่มีใครจะรู้จักเรา รักเรา เข้าใจเรา หวังดีต่อเรา เท่ากับตัวเราเองถ้าจะมีใครสักคนที่รู้จักเราดี คนคนนั้น ก็คือ ตัวเราเอง

13. “คนที่ประสบความสำเร็จ และคนที่ประสบความล้มเหลว มักจะทำทุกอย่างเหมือนกันแต่ทำด้วยทัศนและวิธีคิดที่แตกต่างกัน”

14. อ่านหนังสือ เราได้อารมณ์ ความรู้สึก และมีเรื่องราวต่างๆมากมายให้ศึกษาอ่านคน เราก็ได้สิ่งต่างๆเหล่านั้นเช่นกัน แต่มันมีค่ามหาศาลหากเราอ่านมันออกเพราะมันยากเสียกว่า การอ่านหนังสือเป็นร้อยๆ เล่ม


15. Do a favor and Do not ask for or expect, one in Return
ทำประโยชน์โดยไม่หวังผลตอบแทน


16. โลกไม่ได้มีเพียงด้านเดียว ให้เราเรียนรู้ เราก็ไม่สามารถหมุนโลกให้เห็นทุกๆด้านได้แต่เรารู้โลกได้เกือบทุกด้าน จากผู้คนมากมาย ทั้งดีและร้ายที่อยู่รอบตัวเรา

4.9.48

กฟผ.มินิมาราธอน

ชื่องาน: กฟผ.มินิมาราธอน (4 กันยายน 2548)
สถานที่: กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี
สรุปผลการประเมิน: 80 คะแนน จัดได้ดี

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: เส้นทางการวิ่งอยู่ในบริเวณภายในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นทางเรียบล้วนๆ ไม่มีเนิน วิ่งไป-กลับ เป็นเส้นทางวิ่งที่สะดวกสำหรับผู้จัดซึ่งไม่ต้องกังวลกับการปิดถนน หรือควบคุมจราจร และมีต้นไม้คอยให้ร่มเงาได้บ้างตามเส้นทางการวิ่ง อากาศไม่ร้อนแดดไม่มีนักวิ่งก็วิ่งกันสบายๆเพื่อสุขภาพและการกุศล เส้นทางการวิ่งภายในกระทรวงสาธารณสุข เป็นเส้นทางที่เหมาะกับการวิ่งระยะสั้นๆ อย่างมินิมาราธอน แต่หากจัดวิ่งระยะอื่นๆมากกว่า ก็คงต้องวิ่งวนกันหลายรอบทีเดียว

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: หากคุณไม่ใช่นักวิ่งแนวหน้าที่หวังถ้วยรางวัลสวยหรู หรือเงินรางวัลติดมือกลับบ้านล่ะก้อ งานการกุศลที่จัดได้ดีอย่างนี้เป็นงานที่น่าไปวิ่งและให้การสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง ทุกคนวิ่งกันด้วยรอยยิ้ม และผู้จัดให้ความสำคัญกับนักวิ่งทุกคน ผู้จัดจัดด้วยใจ นักวิ่งก็วิ่งด้วยใจ ผลที่ออกมาทุกคนก็ประทับใจ

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: สำหรับสนามนี้ขึ้นชื่อว่า กฟผ. ก็การันตีคุณภาพการจัดงานได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ยังคงรักษาคุณภาพของงานวิ่งได้เป็นอย่างดี แต่มีสองสิ่งที่อยากฝากไว้ให้พิจารณา สิ่งแรกคือการสร้างหรือปลูกจิตสำนึกให้นักวิ่งที่รักวิ่งได้รักษ์สิ่งแวดล้อมไปด้วยในตัว ดังนั้นผู้จัดเองก็ต้องตระหนักถึงสิ่งนี้เช่นกัน และสิ่งที่สองคือ อยากให้งานวิ่ง กฟผ. ซึ่งเป็นงานวิ่งการกุศลจริงๆ ที่นักวิ่งส่วนใหญ่ให้ความสนับสนุนเสมอมา หากเป็นไปได้อยากให้ผู้จัดผลักดันงานวิ่งนี้ให้เป็นงานวิ่งสังสรรค์ของนักวิ่งไทยทุกชมรม อ่านดูแล้วคงยากพอสมควรนะคะสำหรับข้อนี้ แต่หากไม่มีการเริ่มต้นคิดและทำขึ้นมามันก็คงไม่เกิดเป็นแน่ ที่เสนอแนะข้อนี้ขึ้นมาเพราะคิดว่าผู้จัดมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปถึงระดับนั้นได้