28.2.52

Contribute member countries to develop Indicators National Guidelines: Thailand

จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อจัดทำคู่มือการเก็บข้อมูลของตัวชี้วัดทางการประมงในประเทศไทย โดยเป็นนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมง และเจ้าหน้าที่กองการจัดการประมงชายฝั่งของศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัตถุประสงค์ในการประชุมครั้งนี้ คือ1) เพื่อสรุปรูปแบบคู่มือและมาตรฐานการเก็บข้อมูลจัดทำคู่มือการเก็บข้อมูลตัวชี้วัดทรัพยากรประมง2) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปัญหาที่พบจากการนำสมุดบันทึกข้อมูล (log sheet) ไปทดลองใช้3) เพื่ออภิปรายหารูปแบบ และ ปรับปรุงเนื้อหาของสมุดบันทึกข้อมูลการเก็บตัวอย่าง (log sheet) เพื่อใช้ประโยชน์ในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มเรือประมงพาณิชย์ เรือประมงพื้นบ้าน และให้กลุ่มผู้ใช้ทรัพยากรได้มีส่วนร่วมในการกรอกข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็น และ4) เพื่อให้ที่ประชุมยอมรับในรายละเอียดของข้อมูลเพื่อที่จะใช้เป็นแนวทางในการเก็บข้อมูลและจัดทำคู่มือการเก็บข้อมูลของตัวชี้วัดเพื่อที่จะใช้เป็นมาตรฐานการเก็บข้อมูลให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ

ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นพูดคุยถึงปัญหาและประสบการณ์จากการทดลองใช้แบบสัมภาษณ์และ แบบสอบถาม (log sheet) ที่เป็นผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการจัดเก็บข้อมูลและจัดทำเป็นคู่มือการเก็บข้อมูลของตัวชี้วัดจากเรือประมงพาณิชย์ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 5-7 สิงหาคม 2551 และ การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการจัดเก็บข้อมูลและจัดทำเป็นคู่มือการเก็บข้อมูลของตัวชี้วัดจากเรือประมงพื้นบ้านในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 13-15 สิงหาคม 2551 รวมถึงเนื้อหาของแบบสัมภาษณ์ที่ใช้ในการเก็บข้อมูล หลังจากได้มีการอภิปรายพูดคุยโดยรวมแล้วผู้เข้าร่วมประชุมแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยทำการอภิปรายเพื่อปรับปรุงแก้ไขและสรุปเนื้อหาแบบฟอร์มหรือสมุดบันทึกข้อมูล (log sheet) ในส่วนของกลุ่มเรือประมงพาณิชย์ (อวนลากและอวนล้อมจับ) และกลุมประมงพื้นบ้าน (อวนลอย ลอบ และอวนและแหครอบ) ให้มีความเหมาะสมสำหรับนักวิชาการที่สามารถนำไปใช้ได้จริงโดยพิจารณาจากผลการนำไปทดลองใช้
หลังจากได้ทำการปรับปรุงแก้ไขในเนื้อหาของแบบฟอร์มหรือสมุดบันทึกข้อมูล (log sheet) เรียบร้อยแล้ว ต่อจากนั้นได้เปิดการอภิปรายรวมอีกครั้งโดยร่วมกันอภิปรายในเนื้อหาเพิ่มเติมที่จะนำมาประกอบเป็น คู่มือการเก็บข้อมูลของตัวชี้วัดทางการประมงในประเทศไทย และนี่คือหนึ่งในผลงานของเรา

16.2.52

ขึ้นโขนชิงธง ณ สนามแม่น้ำหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร

งานประเพณี แห่พระแข่งเรือ “ขึ้นโขนชิงธง”
"มรดกวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำหลังสวน" ณ สนามแม่น้ำหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร

ช่วงเวลา เริ่มงานวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (วันออกพรรษา) ของทุกปี หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันมหาปวารณา" คำว่า"ปวารณา"แปลว่า "อนุญาต" หรือ "ยอมให้" คือ เป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกัน ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ในข้อที่ผิดพลั้งล่วงเกินระหว่างที่จำพรรษาอยู่ด้วยกัน ในวันออกพรรษานี้กิจที่ชาวบ้านมักจะกระทำก็คือ การบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระที่วัด และฟังพระธรรมเทศนา ของที่ชาวพุทธนิยมนำไปใส่บาตรในวันนี้ก็คือ ข้าวต้ม มัดไต้ และข้าวต้มลูกโยน และการร่วมกุศลกรรมการ "ตักบาตรเทโว" คำว่า "เทโว" ย่อมาจาก"เทโวโรหน" แปลว่าการเสด็จจากเทวโลกการตักบาตรเทโว จึงเป็นการระลึกถึงวันที่ พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการโปรด พระพุทธมารดาในเทวโลก ประเพณีการทำบุญกุศล เนื่องในวันออกพรรษานี้ ทุกวัดในประเทศไทย ก็มีพิธีเหมือนกันหมด

งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น แสดงถึงความสามัคคีและความพร้อมเพรียงที่แสดงออกในรูปของการกีฬา และเป็นการสืบทอดประเพณีอันยาวนานของท้องถิ่น โดยเฉพาะการขึ้นโขนชิงธง ที่นายท้ายเรือต้องถือท้ายเรือให้ตรงเพื่อให้นายหัวเรือคว้าธงที่ทุ่นเส้นชัย โดยการขึ้นโขนเรือ

การแข่งเรือของอำเภอหลังสวนเริ่มมีครั้งแรกในสมัยพระยาจรูญราชโภคากร เป็นเจ้าเมืองหลังสวน เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นการลากพระชิงสายกันในแม่น้ำ โดยใช้เรือพายเป็นเรือดึงลากแย่งกัน วัด หรือหมู่บ้านใดมีเรือมากฝีพายดี ก็แย่งพระไปได้ อัญเชิญพระไปประดิษฐานไว้ในวัดที่ตนต้องการ มีงานสมโภชอย่างสนุกสนานในตอนกลางคืน รุ่งเช้าถวายสลากภัต ต่อมาสมัยหลวงปราณีประชาชน อำมาตย์เอก ได้ดัดแปลงให้มีสัญญาณในการปล่อยเรือโดยใช้เชือกผูกหางเรือคู่ที่จะแข่ง ให้เรือถูกพายไปจนตึงแล้วใช้มีดสับเชือกที่ผูกไว้ให้ขาด

ลักษณะของเรือที่ใช้แข่งในปัจจุบันขุดจากไม้ซุง (ตะเคียน) ทั้งต้น ยาวประมาณ ๑๘-๑๙ เมตร มีธงประจำเรือติดอยู่ เรือแข่งจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ฝีพาย ๓๐ คน และฝีพาย ๓๒ คน ฝีพายจะนั่งกันเป็นคู่ ยกเว้นนายหัวกับนายท้าย เรือแต่ละลำจะมีฆ้องหรือนกหวีดเพื่อตีหรือเป่าให้จังหวะฝีพายได้พายอย่างพร้อมเพรียงกัน
รางวัลสำหรับการแข่งขันในสมัยก่อน เรือที่ชนะจะได้รับผ้าแถบหัวเรือ ส่วนฝีพายจะได้รับผ้าขาวม้าคนละผืน ต่อมาเป็นการแข่งขันชิงน้ำมันก๊าด เพื่อนำไปถวายวัด เพราะเรือส่วนใหญ่เป็นเรือของวัด และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา เป็นการแข่งขันเพื่อชิงโล่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกติกาการปล่อยเรือและการเข้าเส้นชัยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์ เช่น ในปัจจุบันมีการแบ่งสายน้ำโดยการจับสลาก กำหนดระยะทางที่แน่นอน คือ ๕๐๐ เมตร มีเรือเข้าร่วมแข่งขันทั้งเรือในท้องถิ่นจังหวัดชุมพรเอง และเรือจากต่างจังหวัด





13.2.52

เที่ยว จ.สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย

สุโขทัยเป็นที่ตั้งอาณาจักรแรกของชนชาติไทยเมื่อกว่า 700 ปีที่แล้ว "สุโขทัยดินแดนรุ่งอรุณแห่งความสุข" รอยอดีตแห่งความรุ่งเรือง เห็นได้จากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) จังหวัดสุโขทัย เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง นอกจากเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญแล้ว ยังเป็นดินแดนแห่งความทรงจำ ดินแดนแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ สมดังคำขวัญที่ว่า "มรดกโลกล้ำเลิศ กำเนิดลายสือไทย เล่นไฟลอยกระทง ดำรงพุทธศาสนา งามตาผ้าตีนจก สังคโลกทองโบราณ สักการแม่ย่า พ่อขุน รุ่งอรุณแห่งความสุข"

จังหวัดสุโขทัยมี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม โดยตอนเหนือเป็นที่ราบสูงมีภูเขาเป็นพืดยาวมาทางทิศตะวันตก พื้นที่ตอนกลางเป็นที่ราบและตอนใต้เป็นที่ราบสูง มีแม่น้ำไหลผ่านจากเหนือลงใต้ โดยผ่านพื้นที่ อ.ศรีสัชนาลัย อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง อ.เมืองสุโขทัย และ อ.กงไกรลาศ เป็นระยะทางประมาณ 170 กิโลเมตร จังหวัดสุโขทัยมีภูเขาที่สูงที่สุด คือ เขาหลวง ซึ่งยอดเขามีความสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล

อุทยานที่น่าท่องเที่ยวใน จ.สุโขทัย ได้แก่ อุทยานแห่งชาติรามคำแหง อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย


อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่โบราณสถานกรุงสุโขทัย ศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยซึ่งมีอำนาจอยู่บริเวณภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า (เขตเทศบาลตำบลเมืองเก่า) อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ห่างจากตัวเมืองสุโขทัยปัจจุบัน (เขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี) ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้รับการประกาศคุ้มครองครั้งแรกตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 92 ตอนที่ 112 ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 โครงการฟื้นฟูอุทยานแห่งนี้ก็ได้รับการอนุมัติ และเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2531

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ของประเทศไทยตั้งอยู่ที่ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย มีโบราณสถานทั้งหมด 215 แห่ง สำรวจค้นพบแล้ว 204 แห่ง รวมทั้งสุสานวัดชมชื่น และเตาสังคโลกโบราณ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย พร้อมด้วย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้รับเกียรติให้ลงทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก องค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อว่า "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร" (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns)