20.3.49

ไอเอ็นจี วัฒนธรรมไทยมาราธอน นานาชาติ

งานวิ่ง ไอเอ็นจีวัฒนธรรมไทยมาราธอน นานาชาติ
วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2549ณ วัดภุมรินทร์กุฎีทอง อ. อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
สรุปผลการประเมิน TRES: (66 คะแนน) การจัดงานพอใช้ได้แต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร

เส้นทางการวิ่ง:
เส้นทางการแข่งขันระยะมาราธอนใช้เส้นทางวิ่งไปกลับ โดยวิ่งไปตามถนนในชุมชนผ่านสวนผลไม้นานาชนิด อาทิ ส้มโอ ลิ้นจี่ มะพร้าว ขนุน มะม่วง ชมพู่ กล้วย เป็นต้น เป็นเส้นทางที่ใช้สัญจรไปมาของคนในชุมชนที่มีวิถีชีวิตเน้นทางด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก ดังนั้นจึงมีคูคลองหลายสาย ทำให้เส้นทางก็จะมีสะพานหลายสะพานไม่ใช่แค่เพียงทางเรียบวิ่งกันง่ายๆ ตามเส้นทางการวิ่งสนามนี้จะเป็นสนามที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในด้านการได้เห็นการดำเนินชีวิตของคนชุมชนจริงๆ ได้เห็นชาวบ้านกำลังทำสวน ทำนา สอยมะพร้าว ปลอกมะพร้าว ใส่ปุ๋ย เป็นเส้นทางที่ยังคงแสดงให้เห็นวิถีชีวิตคนไทยในอดีตที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากช่วงนี้ใกล้เข้าสู่ช่วงสงกรานต์ อากาศก็จะร้อนเป็นปกติของบ้านเรา และกอรปกับการปล่อยตัวสาย ก็เลยส่งผลให้นักวิ่งร้อน และต้องวิ่งตากแดดกันบ้าง

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สนามวิ่งที่จัดในช่วงนี้จนถึงช่วงเมษายน จะเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างร้อนมาก หรือร้อนกว่าช่วงฤดูกาลอื่นๆ ดังนั้นนักวิ่งที่แพ้แดด กลัวร้อน ก็ไม่ควรที่จะลงระยะไกลๆ หรือบางท่านแพ้แดดอย่างแรงก็ควรเลี่ยงสนามในช่วงนี้ แต่หากจะลงก็คงต้องเตรียมความพร้อมมาเพื่อรับสภาพกับสนามนั้นๆให้ได้ ไม่ว่าจะซ้อม หรือมีอุปกรณ์ช่วยป้องกันแดด ไม่ว่าจะเป็นหมวก เสื้อหรือกางเกงขายาว เพราะหากจะให้สนามวิ่งทุกสนามจัดในช่วงที่อากาศดี เย็นสบายเหมือนกันทุกสนามก็คงไม่มีอะไรที่จะมาสร้างความตื่นเต้น ความท้าทายให้กับบรรดานักวิ่งที่มีหลากหลาย ดังนั้นสนามนี้ก็เป็นอีกสนามที่น่าวิ่ง แต่นักวิ่งต้องประเมินตนเองและสภาพสนามให้ดี จากปีที่แล้วจัดวิ่งช่วงเย็นวิ่งกันยันเที่ยงคืน ปีนี้จัดวิ่งสายหน่อยวิ่งกันจนเที่ยง สนามนี้จึงเป็นสนามที่สอนอะไรๆให้นักวิ่งได้รับรู้มากขึ้น “วิ่ง” เพียงอย่างเดียวไม่พอ นอกจากการเตรียมตัวการประเมินตนเองแล้ว การประเมินสภาพและคาดการ์ณในสนามก็เป็นสิ่งสำคัญ
ส่วนเรื่องอื่นๆ อาทิ ค่าสมัครที่สูงกว่าหลายๆสนาม อันนี้เป็นเรื่องที่นักวิ่งควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เนื่องจากบางคนก็เต็มใจที่จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งประสพการ์ณ บางคนคิดว่าเอาเงินที่จะจ่ายสนามนี้ไปจ่ายสนามอื่นดีกว่าได้วิ่งอีกหลายสนาม เป็นต้น ทั้งนี้ก็แล้วแต่บุคคล

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: เนื่องจากผู้จัดอาจต้องการเน้นประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ซึ่งจะเห็นได้จากการใช้ชื่อ สถานที่ และเส้นทางการวิ่งที่มีการแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสวยงามที่นักวิ่งทั้งไทยรู้สึกภูมิใจและดีใจ และนักวิ่งต่างชาติก็รู้สึกตื่นเต้นกับการแสดงเหล่านั้นเช่นกัน แต่ส่วนลึกๆในใจในฐานะนักวิ่งไทยคนหนึ่ง เรารู้สึกว่าสิ่งที่เอามาโชว์นั้นมันเป็นแค่เพียงการแสดงเท่านั้นจริงๆ ราวกับว่านักแสดงถูกจับเอามาวางแล้วเค้าให้แสดงอะไรก็แสดง ไม่ค่อยมีชีวิตชีวา นักวิ่งจะวิ่งก็วิ่งไป นักแสดงจะแสดงก็แสดงไป ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กันสักเท่าไหร่นัก การจัดงานวิ่งอย่างนี้ชุมชนควรมีส่วนร่วมมากกว่านี้แต่ดูไปแล้วชุมชนก็ยังมีส่วนร่วมไม่มากเท่าใดนัก

เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักวิ่ง เรื่องแรกเรื่องความปลอดภัยในชีวิต บนเส้นทางการแข่งขัน การควบคุมการจราจรถึงแม้จะวิ่งถนนซึ่งใช้กันในชุมชน ในหมู่บ้าน แต่การจราจรก็พลุกพล่านในบางจุด ซึ่งส่งผลให้นักวิ่งบางท่านได้รับอันตราย ซึ่งปีที่แล้วก็มีปัญหานี้เช่นกัน และในส่วนของทรัพย์สินที่สูญหาย ซึ่งหากจะแก้ไขตรงจุดนี้ เจ้าหน้าที่และคนในชุมชนควรมีส่วนร่วมให้ขึ้น

ส่วนเรื่องการจัดมาราธอนในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศร้อนมากจนถึงโค-ต-ร ร้อน ไม่ว่าจะปล่อยตัวเช้า สาย บ่าย เย็น การให้น้ำทุกๆ 2.5 กิโลค่อนข้างที่จะห่างเกินไปอาจจะย่นมาทุกๆ 2 กิโลน่าจะดีกว่า

การประมวลผลสำหรับนักวิ่งแนวหน้าซึ่งจะขึ้นรับรางวัลต่างๆ การใช้ชิพปัจจุบันยังมีจุดผิดพลาดและบกพร่องไปบ้างดังนั้นการใช้ป้ายบอกอันดับก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยการแจกรางวัลรวดเร็ว กระชับ ฉับไว มากยิ่งขึ้น ปัญหาสำหรับนักวิ่งแนวหน้าก็จะลดลงไป แม้นักวิ่งที่มีปัญหาจะมีไม่มากนักแต่ก็เป็นการดีสำหรับผู้จัดเองที่ทำให้นักวิ่งทุกระดับประทับใจ


อาหารสำหรับนักวิ่งมีเพียงข้าวต้ม และมาม่าเท่านั้น นักวิ่งเข้าไปวิ่งถึงสวนผลไม้ ส้มโอ ลิ้นจี่ มะปราง มะพร้าว แต่นักวิ่งไม่มีโอกาสได้ลิ้มลอง นอกจากจะต้องใช้เงินซื้อมารับประทานเอง อันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะบรรยายออกมายังไงเหมือนกัน....

สุดท้ายเป็นสิ่งที่ทำให้นักวิ่งหลายคนน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าทำไมผู้จัดเอาใจนักวิ่งต่างชาติซะเหลือเกิน อันนี้นักวิ่งหลายท่านก็เข้าใจว่าทำไม สาเหตุก็คือ นักวิ่งต่างชาติมาวิ่งแบบแพคเกจทัวร์ซึ่งจ่ายค่าสมัครรวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆแพงกว่าชาวบ้านเค้า แต่อยากแนะนำผู้จัดว่าการจะ treat นักวิ่งเหล่านี้ดีกว่าคงไม่เป็นไร แต่ในสนามแข่งขันบริเวณงานนักวิ่งทุกคนน่าจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกัน ไม่ควรแบ่งแยก แต่หลังจากเสร็จสิ้นการแข่งขันแล้วท่านจะแยกนักวิ่งกลุ่มนี้ออกไปก็ไม่เป็นไรหรือหากจะมีบริการพิเศษอื่นๆก็ควรจะแยกออกไป เพื่อไม่ทำให้นักวิ่งเกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้นักวิ่งเข้าใจผู้จัดผิดไปด้วย

งานนี้ฟังจากประสบการ์ณที่นักวิ่งหลายๆท่านบอกเล่ากันบนเว็บบอร์ดแห่งนี้ดูเหมือนจะมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงกันค่อนข้างเยอะพอสมควร แต่สิ่งเหล่านั้นโดยส่วนใหญ่เป็นทางด้านการจัดการซะมากกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่สนามนี้ต้องการเป็นอย่างมากที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆได้นั่นก็คือ ความร่วมมือจากชุมชน น้ำใสใจจริงจากชาวบ้าน ที่จะคิดว่างานนี้เป็นส่วนหนึ่ง เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญของชุมชน

13.3.49

โรงพยาบาลสิชลมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 5

ชื่องาน: โรงพยาบาลสิชลมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 5
วันที่: 12 มีนาคม 2549
สถานที่: โรงพยาบาลสิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
สรุปผลการประเมิน: 82 คะแนน ดี น่าไปวิ่ง

เส้นทางการเดิน-วิ่ง:
สนามนี้มีการแข่งขัน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะฟันรัน 3.5 กม. มินิ 10.5 และ ฮาล์ฟ 21.1 กม. เส้นทางการแข่งขันเมื่อปล่อยตัวออกจากจุดสตาร์ทไปแล้วเลี้ยวซ้าย แล้ววิ่งวนอ้อมกลับเข้าสู่เส้นชัยอีกด้านนึง ทั้งสามระยะจะคล้ายกัน ในระยะมินิและฮาล์ฟเส้นทางการวิ่งเป็นถนนลาดยาง ทางเรียบผสมเนินเตี้ยๆ 2-3 เนิน และปิดท้ายก่อนเข้าเส้นชัยด้วยเนินสูงชัน บรรยากาศโดยรวมเป็นการวิ่งชมหมูบ้านในอ.สิชล ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีอาชีพทำประมง และเป็นแหล่งชุมชนที่มีฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกกุ้งจำหน่าย สำหรับบรรยากาศริมหาดไม่ค่อยได้เห็นมากนักเนื่องจากเป็นแหล่งชุมชนมีบ้านเรือนตั้งเรียงรายทำให้เส้นทางระหว่างการวิ่งนักวิ่งไม่ได้สัมผัสบรรยากาศท้องทะเลมากนัก หาดในบริเวณอ.สิชล ส่วนใหญ่เป็นหาดหิน ซึ่งจะให้นักวิ่งลงไปวิ่งก็คงจะลำบาก ดังนั้นเส้นทางการวิ่งสำหรับงานนี้ก็ถือว่าเหมาะสม ไม่ยากและก็ไม่ง่ายเกินไป เป็นสนามที่สนับสนุนให้คนในชุมชนได้สนใจมาออกกำลังกายกันมากขึ้น

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
สนามนี้เป็นสนามที่มีความเหมาะสมกับนักวิ่งทุกระดับ ระยะทาง 3.5 กิโล ที่เหมาะกับเยาวชนและนักวิ่งที่เพิ่งออกมาวิ่งได้ไม่นาน หรือนักวิ่งที่ชอบวิ่งสั้น ถัดมาเป็นระยะมินิที่เหมาะกับนักวิ่งที่ผ่านสนามมาพอสมควร มีเนินให้ทดสอบและออกแรงกันอีกนิดหน่อย ส่วนระยะฮาล์ฟเป็นระยะเหมาะสำหรับนักวิ่งที่ชอบวิ่งไกลๆ ประเภทวิ่งไปเที่ยวไป ไปไกลๆทั้งทีก็ต้องวิ่งให้คุ้มก็ลงระยะฮาล์ฟ ดังนั้นสนามนี้เป็นสนามที่เหมาะกับนักวิ่งทุกระดับจริงๆ เป็นสนามที่มีความพร้อมในด้านการจัดงานเป็นอย่างมากหากใครได้มีโอกาสมาวิ่งสนามนี้รับรองไม่ผิดหวัง นอกจากนั้นการแจกรางวัลและการแบ่งรุ่นอายุการแข่งขันเรียกว่าผู้จัดก็แจกไม่อั้นเช่นกัน ดังนั้นนักวิ่งที่ลุ้นถ้วยและรางวัลสนามนี้ก็เปิดโอกาสให้ไม่น้อย ซ้อมมาดีก็มีโอกาสได้ถ้วยติดมือกลับบ้าน

คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
ก่อนอื่นสำหรับสนามนี้ต้องขอติงก่อนเลยเพราะส่วนดีมีมาก จุดบกพร่องมีแค่เพียงนิดเดียวเท่านั้นคือเรื่องจุดให้น้ำที่ตั้งพลาดไปและมีบางจุดเหลือแต่น้ำแข็งให้นักวิ่งรวมถึงเรื่องถังขยะในบริเวณจุดให้น้ำซึ่งยังขาดไป แต่ข้อผิดพลาดตรงนี้ก็ไม่ใช่ข้อผิดพลาดที่ใหญ่ โดยรวมในเรื่องนี้ก็ถือว่าใช้ได้แล้วแต่ปรับปรุงอีกนิด สนามนี้คงเรียกว่าเป็นอีกสนามที่สมบูรณ์แบบทีเดียว ทีนี้ก็มาร่ายยาวกับสิ่งดีๆที่ผู้จัดสนามนี้ได้จัดให้กับนักวิ่งกันดีกว่า เริ่มจากเรื่องแรกคือ การต้อนรับที่อบอุ่นให้บริการนักวิ่งด้วยรอยยิ้มและน้ำใจ การรับสมัครที่ต้องการข้อมูลชัดเจนเพื่อคีย์เข้าคอมพิวเตอร์แต่บางทีนักวิ่งเขียนอ่านไม่ออกนักวิ่งนับร้อย ผู้รับสมัครก็คงรำคาญน่าดู คนไทยหรือเปล่าเนี้ยเขียนภาษาไทยแต่คนไทยอ่านไม่ออก แต่ก็ยิ้มหวานแล้วถามอย่างสุภาพว่าอยู่ที่ไหนคะ? ชื่ออะไรคะ? เกิดวันที่เท่าไหร่ เดือนอะไร ปีไหนคะ? แล้วก็ทวนให้เราฟังอีกครั้งว่าถูกหรือเปล่า... น่ารักซะไม่มี
เรื่องที่สองคือ เรื่องการแบ่งประเภทการแข่งขัน เป็นการจัดการแข่งขันที่เน้นกลุ่มเป้าหมายได้ตรงเป้าทีเดียว มีระยะฟันรัน มินิ และ ฮาล์ฟ ซึ่งระยะฟันรันเป็นระยะเริ่มต้นเพื่อเป็นการชักชวนให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมและเหมาะสำหรับเยาวชนและมีการแจกรางวัลให้ระยะนี้ ซึ่งถือว่าผู้จัดบรรลุวัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้เป็นอย่างมาก
เรื่องที่สามแม้ว่าจะมีการเตรียมอาหารใส่ถุงให้นักวิ่งบางส่วนหลังจากเข้าเส้นชัยแล้ว ก็ยังมีบางส่วนที่จัดเตรียมให้โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็น โจ๊ก ข้าวต้มมัด แตงโม เตรียมพร้อมเป็นอย่างดี
เรื่องที่สี่เรื่องการลงทะเบียนที่ทันสมัย สามารถเก็บข้อมูลนักวิ่งและสามารถนำไปเป็นฐานข้อมูลสำหรับการแข่งขันและนักวิ่งได้จริง หลังจากที่พบว่างานวิ่งสงขลามาราธอน 2547 งานวิ่งทางภาคใต้ได้มีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาประยุกต์ใช้แต่ครั้งนั้นยังพบว่าโปรแกรมยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร มาวันนี้ 12 มีนาคม 2549 งานนี้มีการนำโปรแกรมมาประยุกต์ใช้ พบว่าการทำงานและการประมวลผลค่อนข้างสมบูรณ์มากทีเดียว เชื่อว่าหากมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น มีการนำเซ็นเซอร์เข้าประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน อนาคตอาจจะมีระบบชิพไทม์มิ่งโดยคนไทยเพื่อนักวิ่งไทยแน่นอน อันนี้ก็ขอให้กลุ่มผู้ออกแบบโปรแกรมนี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป และอยากให้งานวิ่งอีกหลายๆงานที่สนใจลองติดต่อเพื่อนำมาใช้ดูนะคะจะเป็นประโยชน์มากทีเดียวในการเก็บข้อมูลนักวิ่ง
และเรื่องสุดท้าย เรื่องของเจ้าภาพและบริษัทรับจัดงาน บ่อยครั้งที่เราพบเห็นว่างานวิ่งบางงานผิดพลาดขึ้นมาก็ว่าเจ้าภาพไม่ทำตามคำแนะนำบริษัทผู้จัดบ้าง หรือเหตุผลนานานัปการ แต่งานนี้ก็ทำให้เห็นว่าแม้ว่าผู้จัดบางรายจะมีข้อด้อยในบางเรื่องแต่ก็จะมีข้อดีในเรื่องอื่นๆเช่นกัน ดังนั้นหากเจ้าภาพรู้ว่าตัวเองขาดจุดไหน ก็หาผู้จัดที่สามารถเติมเต็มให้กับเจ้าภาพได้งานก็จะออกมาดีได้เช่นกัน...
และท้ายนี้ขอให้ทีมงานรักษาคุณภาพงานวิ่งดีๆอย่างนี้และพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นไป และฝากผู้จัดอีกหลายๆรายที่สนใจในเรื่องระบบการรับสมัครที่มีประสิทธิภาพติดต่อทีมงานการจัดงานครั้งนี้ดูนะคะ สิ่งดีๆ มีคุณค่า ที่จะสามารถพัฒนาวงการวิ่งบ้านเรา โดยคนไทยเพื่อคนไทย....