"GARRETT HARDIN ได้เขียนบทความเรื่อง "THE TRAGEDY OF THE COMMONS" ลงนิตยสาร SCIENCE ในปี 1968 ซึ่งไอเดียในบทความได้กลายเป็นสิ่งคลาสสิคที่มีคนรู้จักกันมากที่สุด สิ่งหนึ่งในเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์ต่อมาได้เอาหลักวิชามาอธิบายปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "THE TRAGEDY OF THE COMMONS นี้ และต่อเติมไปถึงเรื่องความสำคัญของสิทธิความเป็นเจ้าของ ผมได้เคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ครั้งหนึ่ง จึงขอนำมาใช้ขยายความเพชรเม็ดนี้ของ GARRETT HARGIN สักเล็กน้อยลองวาดภาพหมู่บ้านเล็กๆ ในสมัยโบราณยุคกลางในยุโรป (ระหว่าง ค.ศ.600-1500) กิจกรรมทางเศรษฐกิจสำคัญอันหนึ่งของชาวบ้านก็คือ การเลี้ยงแกะ หลายครอบครัวมีแกะกันเป็นฝูงๆ เพื่อหารายได้จากการขายขนแกะ ซึ่งจะเอาไปทอเป็นเสื้ออีกทีหนึ่งการเลี้ยงแกะของชาวบ้านก็คือ การปล่อยให้แกะกินหญ้าในบริเวณที่ดินรอบๆ หมู่บ้านที่เรียกกันว่า TOWN COMMON ทุกคนในหมู่บ้านเป็นเจ้าของร่วมกัน และชาวบ้านทุกคนก็มีสิทธิที่จะเอาแกะไปกินหญ้าในที่ดินนี้ได้การเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกันก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด หากที่ดินมีอยู่มากมาย ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ตราบที่เจ้าของแกะทุกคนสามารถมีที่ดินเลี้ยงแกะได้ตามใจปรารถนา การเลี้ยงแกะของครอบครัวหนึ่งบนที่ดินแห่งนี้ มิได้แย่งที่ดินที่จะเลี้ยงแกะของอีกคนหนึ่งไป หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ได้ทำให้คนเลี้ยงแกะคนอื่นถูกกระทบอย่างไรก็ดี
หลายปีผ่านไป ประชากรทั้งของคนและแกะที่มาหากินบน TOWN COMMON แห่งนี้เพิ่มขึ้น คราวนี้ก็เกิดปัญหาที่ดินแห่งนี้เมื่อมีแกะมากินหญ้ามากขึ้นๆ ที่ดินก็ขาดความสมบูรณ์ไป เพราะหญ้าถูกเหยียบย่ำและงอกไม่ทันให้กิน และเมื่อแกะมีมากเข้าทุกที ที่ดินก็แห้งแล้งขาดหญ้า มีแต่ฝุ่นเต็มไปหมด จนไม่สามารถเลี้ยงแกะได้อีกต่อไป ผู้คนก็จะขาดรายได้สำคัญที่เป็นสิ่งเลี้ยงชีพของหมู่บ้านไปในที่สุดอะไรเป็นสาเหตุของโศกนาฏกรรมนี้? เหตุใดเจ้าของแกะจึงยอมให้แกะมีจำนวนมากจนทำลาย TOWN COMMON ในที่สุด? คำตอบก็คือ แรงจูงใจของส่วนบุคคล และของสังคมแตกต่างกัน ถ้าจะหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมนี้ได้ คนเลี้ยงแกะทั้งหมดต้องดำเนินการร่วมกัน โดยลดจำนวนแกะลงจนสอดคล้องกับขนาดของ TOWN COMMON อย่างชนิดที่จะสามารถเลี้ยงแกะได้อย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ดี ไม่มีครอบครัวที่เลี้ยงแกะใดมีแรงจูงใจที่จะลดจำนวนแกะในฝูงลง เพราะตระหนักดีว่า แกะแต่ละฝูงของตนมีส่วนร่วมเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการก่อปัญหาเมื่อแต่ละครอบครัวคิดเช่นนี้ อีกทั้งยังไม่สามารถร่วมกันตัดสินใจ และออกมาตรการร่วมกันมาแก้ไขปัญหาได้ จุดจบของอาชีพขายขนแกะก็เห็นได้ชัดเจน เกิดเป็นโศกนาฏกรรมของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (TRAGEDY OF THE COMMONS) ขึ้น
โดยแท้จริงแล้วในบทความดั้งเดิม HARDIN ได้เสนอว่า วิธีแก้โศกนาฏกรรมของการใช้ทรัพยากรร่วมกันนั้นก็คือ การจูงใจให้ต่างฝ่ายต่างกระทำร่วมกัน โดยมาจากการเห็นพ้องต้องกัน (MUTUAL COERCION MUTUALLY AGREED UPON) ภาครัฐควรกั้นรั้วพื้นที่ COMMONS และผลักไสพวกเลี้ยงสัตว์ออกไปรวมทั้งภาครัฐต้องห้ามสิ่งที่มนุษย์ทำหลายอย่างเพื่อให้สามารถรักษาทรัพยากรไว้ให้คนรุ่นหน้าได้ใช้ในยุคทศวรรษ 1960 ของพวกฮิปปี้ พวกรักธรรมชาติ พวกต่อต้านสงครามเวียดนาม ไอเดียอนุรักษ์เช่นนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงขึ้นมาทันที ข้อเขียนได้รับการอ่านและศึกษากันอย่างกว้างขวางมาก นอกจากนี้เขาเสนอให้ภาครัฐควบคุมจำนวนประชากร เพราะการลดจำนวนคนลงไปเท่านั้น ที่จะทำให้ไม่มีดีมานด์มากเกินไป สำหรับทรัพยากรที่ใช้ร่วมกันที่มีจำกัดเมื่อมีชื่อเสียงปรากฏเป็นที่รู้จักกันดี ในช่วงสองทศวรรษต่อมา HARDIN ก็กลายเป็น ACTIVIST สุดขอบ เขาต่อสู้ให้ลดจำนวนประชากร สนับสนุนการทำแท้งเพราะการทำแท้งทำให้เสรีภาพในการเพาะเผ่าพันธุ์ลดลงไป เขาเชื่อว่าหนทางเดียวที่จะรักษาเสรีภาพอื่นๆ อันมีค่าอย่างยิ่งไว้ได้นั้น ต้องมาจากการเสียสละเสรีภาพในการเพาะเผ่าพันธุ์ของแต่ละคน HARDIN เสนอให้สหรัฐอเมริกาถอนตัวจากสหประชาชาติ เพราะองค์กรนี้มีหลักการว่า ขนาดของครอบครัวเป็นเรื่องของการตัดสินใจส่วนตัว อีกทั้งยังต้องการให้เลิกการรับผู้อพยพเข้าสหรัฐอเมริกา เขาชอบใจที่จีนมีการบังคับให้ประชาชนทำหมัน เขาต้องการเห็นการบังคับทำหมันเกิดขึ้นมากๆ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเขาเชื่ออย่างหนักแน่นว่า หากไม่ลดจำนวนประชากรโลกลงแล้ว ความอดอยาก ภาวะข้าวยากหมากแพง มลพิษ ภาวะรอบข้างอย่างสาหัสจะมาเยือนโลก อย่างไรก็ดี สิ่งที่เขาทำนายไว้เกือบผิดทุกอย่าง นับแต่เขาเขียนบทความนั้นจนถึงปัจจุบัน ประชากรโลกเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว ระดับการศึกษา การอ่านออกเขียนได้ ความอายุยืน เสรีภาพทางการเมือง ฯลฯ เพิ่มขึ้นโดยทั่วไป หลายปัญหายังคุกรุ่นอยู่แต่ไม่เลวร้ายเหมือนที่ HARDIN ได้ทำนายไว้ HARDIN ได้ต่อสู้ให้ผู้คนลดความเป็นวัตถุนิยมลง ประโยคของเขาที่ประทับใจผู้คนก็คือ "THE MAXIMUM IS NOT THE OPTIMUM" (การมีมากสุดไม่ได้หมายถึงการมีในระดับที่สูงอย่างพอเหมาะที่สุด" ซึ่งมาจากคณิตศาสตร์ที่ว่า จุดสูงสุดมิใช่จุดเดียวกับจุดสูงสุดที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัด)" และนี่เป็นเพียงบทสรุปคร่าวๆ โดย ตรีพิพัฒน์ บัวบุษบง
Thailand => Common Pool ทรัพย์สินสาธารณะ หากทุกคนจ้วงหาแต่ประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่คิดถึงว่าประเทศจะเป็นอย่างไร
ลองหาอ่านหนังสือเล่มนี้ดู แล้วหันกลับมามองประเทศไทยของเรา โศกนาฏกรรมนี้อาจเกิดขึ้นกับบ้านเมืองเราก็ได้ หากทุกคนยังเก็บเกี่ยวแต่ผลประโยชน์ใส่ตัว ทุกคนล้วนแล้วแต่ใช้สิทธิความเป็นอิสระและสิทธิส่วนบุคคลจะทำอะไรก็ได้ตามแต่ใจของตัว ว่าแล้วเมืองไทยก็จะไม่หลงเหลืออะไร