ชื่องาน: ดอนบอสโกมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่4
วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2549
สถานที่: สนามการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หัวหมาก กรุงเทพฯ
สรุปผลการประเมิน: 75 คะแนน ใช้ได้ เกือบดี
เส้นทางการเดิน-วิ่ง:
เส้นทางการวิ่งดอนบอสโก วิ่งวนสนามกีฬารัชมังคลากีฬาสถาน แล้วก็เลี้ยวออกด้านหลังสนามกีฬาวิ่งสู่ถนนพระรามเก้า จากพระรามเก้าตรงไปเรื่อยๆก็เข้าสู่ถนนศรีนครินทร์ เลี้ยวซ้ายเพื่อไปออกถนนกรุงเทพกรีฑา เข้าถนนำกรุงเทพกรีฑาแล้ววิ่งกลับผ่านสนามกีฬาฯ สำหรับมินิมาราธอนก็เข้าสู่เส้นชัยได้เลยส่วนฮาล์ฟก็วิ่งอีกรอบแล้วกลับเข้าสู่เส้นชัย เส้นทางก็เป็นทางเรียบที่ปกติใช้เป็นเส้นทางการสัญจรไปมา ก็มีรถวิ่งไปมาบ้าง แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลตลอดเส้นทาง
คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
เนื่องเส้นทางการแข่งขันเป็นการวิ่งในกรุงเทพ ดังนั้นอยากให้นักวิ่งพิจารณเส้นทางการวิ่งทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน ควรหลีกเลี่ยงการวิ่งบนถนนที่มีการจราจรพลุกพล่านถึงแม้ผู้จัดมีความพยายามเพียงใดก็ตามในการปิดถนน แต่จะให้ปิดร้อยเปอร์เซนต์เป็นไปได้ยากพอควร ถึงแม้จะมีการปิดกั้นรถแต่สภาพอากาศก็ไม่เหมาะที่จะออกมาวิ่งเพื่อสุขภาพเท่าใดนัก ไม่ใช่เฉพาะสนามนี้แต่ที่กล่าวนี้รวมถึงทุกๆสนามที่จัดขึ้นในกรุงเทพมหานคร
นอกจากนั้นอีกเรื่องที่อยากฝากไว้ การเป็นนักวิ่งเพื่อสุขภาพที่ดีควรมองและพิจารณาว่าวิ่งอย่างไรเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพตนเอง ไม่ใช่ตะบี้ตะบันวิ่งอย่างเดียว ในบางครั้งเราก็ต้องยอมรับว่าความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากผู้จัดเอง หรือเหตุการ์ณที่ไม่คาดคิด ในช่วงไหนที่มืดระวังได้ก็ควรระวัง อุบัติเหตุหากเกิดขึ้นแล้วก็ไม่มีใครรับผิดชอบให้ท่านได้ “จะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ หากเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บจากการแข่งขัน” ทุกครั้งที่ท่านเขียนใบสมัครก็จะเห็นประโยคนี้ ดังนั้นอย่าวิ่งอย่างเดียว
คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
การพัฒนาจากมินิมาราธอน 3 ครั้ง มาเป็นมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่4 ถือว่าเป็นการพัฒนาและความตั้งใจของผู้จัด เราก็ต้องยอมรับความจริงใจที่จะพัฒนางานวิ่งดอนบอสโกของผู้จัดจริงๆที่แสดงให้นักวิ่งได้เห็นกัน แต่เนื่องจากการจัดวิ่งในกรุงเทพเพื่อให้ได้บรรยากาศดีๆ ความปลอดภัยสูงๆแก่นักวิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้จัดจึงต้องพบกับปัญหาอุปสรรคหลายๆประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนเส้นทางตามที่ได้ลงไว้ในโบรชัวร์เพื่อความปลอดภัยของนักวิ่ง ปัญหาการปิดถนน เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นมินิ-ฮาล์ฟ ครั้งที่ 4 นี้ก็จะเป็นบทเรียนให้กับผู้จัดได้ไม่น้อยทีเดียว สิ่งหนึ่งที่อยากฝากผู้จัดในครั้งต่อไป การจัดวิ่งในกรุงเทพฯค่อนข้างเป็นอะไรที่ยุ่งยากมาก หากผู้จัดยังจะดำเนินการจัดเป็นมินิ-ฮาล์ฟมาราธอนต่อไป การเลือกสถานที่การแข่งขันนอกเขตกรุงเทพฯจะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะดูจากทีมงานแล้วทำงานกันได้ดี แต่หากไม่ต้องการเปลี่ยนสถานที่ผู้จัดคงต้องลดระยะการแข่งขันลงเพื่อให้นักวิ่งมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นให้สมกับเป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพ สุดท้ายขอขอบคุณทีมงานดอนบอสโกมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน สำหรับความตั้งใจจริงที่จะพัฒนางานวิ่งนี้ ด้วยความตั้งใจนี้เชื่อว่างานนี้จะได้รับการสนับสนุนจากนักวิ่งในโอกาสต่อไปแน่นอน
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)