16.2.52

ขึ้นโขนชิงธง ณ สนามแม่น้ำหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร

งานประเพณี แห่พระแข่งเรือ “ขึ้นโขนชิงธง”
"มรดกวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำหลังสวน" ณ สนามแม่น้ำหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร

ช่วงเวลา เริ่มงานวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (วันออกพรรษา) ของทุกปี หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันมหาปวารณา" คำว่า"ปวารณา"แปลว่า "อนุญาต" หรือ "ยอมให้" คือ เป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกัน ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ในข้อที่ผิดพลั้งล่วงเกินระหว่างที่จำพรรษาอยู่ด้วยกัน ในวันออกพรรษานี้กิจที่ชาวบ้านมักจะกระทำก็คือ การบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระที่วัด และฟังพระธรรมเทศนา ของที่ชาวพุทธนิยมนำไปใส่บาตรในวันนี้ก็คือ ข้าวต้ม มัดไต้ และข้าวต้มลูกโยน และการร่วมกุศลกรรมการ "ตักบาตรเทโว" คำว่า "เทโว" ย่อมาจาก"เทโวโรหน" แปลว่าการเสด็จจากเทวโลกการตักบาตรเทโว จึงเป็นการระลึกถึงวันที่ พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการโปรด พระพุทธมารดาในเทวโลก ประเพณีการทำบุญกุศล เนื่องในวันออกพรรษานี้ ทุกวัดในประเทศไทย ก็มีพิธีเหมือนกันหมด

งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น แสดงถึงความสามัคคีและความพร้อมเพรียงที่แสดงออกในรูปของการกีฬา และเป็นการสืบทอดประเพณีอันยาวนานของท้องถิ่น โดยเฉพาะการขึ้นโขนชิงธง ที่นายท้ายเรือต้องถือท้ายเรือให้ตรงเพื่อให้นายหัวเรือคว้าธงที่ทุ่นเส้นชัย โดยการขึ้นโขนเรือ

การแข่งเรือของอำเภอหลังสวนเริ่มมีครั้งแรกในสมัยพระยาจรูญราชโภคากร เป็นเจ้าเมืองหลังสวน เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นการลากพระชิงสายกันในแม่น้ำ โดยใช้เรือพายเป็นเรือดึงลากแย่งกัน วัด หรือหมู่บ้านใดมีเรือมากฝีพายดี ก็แย่งพระไปได้ อัญเชิญพระไปประดิษฐานไว้ในวัดที่ตนต้องการ มีงานสมโภชอย่างสนุกสนานในตอนกลางคืน รุ่งเช้าถวายสลากภัต ต่อมาสมัยหลวงปราณีประชาชน อำมาตย์เอก ได้ดัดแปลงให้มีสัญญาณในการปล่อยเรือโดยใช้เชือกผูกหางเรือคู่ที่จะแข่ง ให้เรือถูกพายไปจนตึงแล้วใช้มีดสับเชือกที่ผูกไว้ให้ขาด

ลักษณะของเรือที่ใช้แข่งในปัจจุบันขุดจากไม้ซุง (ตะเคียน) ทั้งต้น ยาวประมาณ ๑๘-๑๙ เมตร มีธงประจำเรือติดอยู่ เรือแข่งจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ฝีพาย ๓๐ คน และฝีพาย ๓๒ คน ฝีพายจะนั่งกันเป็นคู่ ยกเว้นนายหัวกับนายท้าย เรือแต่ละลำจะมีฆ้องหรือนกหวีดเพื่อตีหรือเป่าให้จังหวะฝีพายได้พายอย่างพร้อมเพรียงกัน
รางวัลสำหรับการแข่งขันในสมัยก่อน เรือที่ชนะจะได้รับผ้าแถบหัวเรือ ส่วนฝีพายจะได้รับผ้าขาวม้าคนละผืน ต่อมาเป็นการแข่งขันชิงน้ำมันก๊าด เพื่อนำไปถวายวัด เพราะเรือส่วนใหญ่เป็นเรือของวัด และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา เป็นการแข่งขันเพื่อชิงโล่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกติกาการปล่อยเรือและการเข้าเส้นชัยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์ เช่น ในปัจจุบันมีการแบ่งสายน้ำโดยการจับสลาก กำหนดระยะทางที่แน่นอน คือ ๕๐๐ เมตร มีเรือเข้าร่วมแข่งขันทั้งเรือในท้องถิ่นจังหวัดชุมพรเอง และเรือจากต่างจังหวัด