12.2.53

อะไร คือ ความดี คนดี สิ่งที่ดี หรือสิ่งที่ดีที่ควรกระทำ...

สะอาด - สกปรก
ขยัน มานะ อดทน - ขี้เกียจ
อดออม ประหยัด - สุรุ่ย สุร่าย
ตรงต่อเวลา - มาสาย ผิดนัด
ซื่อสัตย์ สุจริต - ทุจริต คดโกง
พูดความจริง - โกหก หลอกลวง
ใจดี มีเมตตา ช่วยเหลือผู้อื่น - ใจร้าย รังแกคนที่อ่อนแอกว่า
เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจ - แล้งน้ำใจ เห็นแก่ตัว
พูดจาไพเราะ สุภาพ - หยาบคาย
มีความรับผิดชอบ - ขาดความรับผิดชอบ จับจด
ยินดี สรรเสริญ ด้วยความจริงใจ - อิจฉา ริษยา
เก่ง ฉลาด - โง่

ไม่รู้ว่าทัศนคติคนยุคนี้เป็นแบบไหนแล้ว แล้วคุณล่ะจะเลือกแบบไหน
จะสอนลูกหลานว่าอะไรควรกระทำ ไม่ควรกระทำ?

ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม กับ มนุษย์

ทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม คืออะไร
ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม กับ มนุษย์
มนุษย์ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด
และตอบสนองความต้องการที่จะดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
เมื่อใช้ทรัพยากรแล้ว ก็ส่งให้เกิดผลกับ สิ่งแวดล้อมตามมา
จะใช้ทรัพยากรอย่างไรให้สมดุล กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ตามมา
เป็นกฏเกณฑ์ตามธรรมชาติ ที่ทุกสิ่งอย่างไม่ได้มีด้านดีเพียงอย่างเดียว
ดังนั้น เมื่อเราได้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
ผลสะท้อนออกมาต่อสิ่งแวดล้อม ย่อมไม่ดีแน่นอน
สิ่งที่ควรคำนึงในการใช้ทรัพยากร

๑. ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ใช้อย่างชาญฉลาด เพื่อไม่ให้สูญเสียทรัพยากรโดยไร้ค่า ใช้ทรัพยากรอย่างคนฉลาด วางแผนการใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุดทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม

๒. คำนึงถึงประโยชน์ที่ได้รับ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คุ้มค่ากันหรือไม่

๓. ใช้ทรัพยากรไปแล้ว เพื่อความอยู่รอดของเราและให้คิดถึงไปว่าเพื่อความอยู่รอดของรุ่นลูกรุ่นหลานเราด้วย ไม่ใช่เรารอด แต่ลูกหลานเราไม่เหลืออะไรให้ใช้ และก็สูญพันธ์ไป

๔. ทรัพยากรธรรมชาติโดยส่วนใหญ่ ไม่มีเจ้าของ ถือว่าเป็นทรัพย์สินสาธารณะ ดังนั้นการใช้ทรัพยากรควรใช้ ด้วยความรับผิดชอบ ช่วยกันเป็นเจ้าของ นอกจากจะใช้ ก็ต้องมีการดูแลรักษา ฟื้นฟู ด้วยเช่นกัน

๕. ใช้ทรัพยากร อย่างเป็นคนดี เอื้อเฟื้อ แบ่งปันกันใช้  ไม่ละโมบ ไม่โลภมากไม่เห็นแก่ตัว ไม่มูมมาม

๖. ทรัพยากรไม่ใช่ สิ่งที่ถูกสร้างมาเพื่อตอบสนองความสะดวกสบาย แต่เพื่อให้มนุษย์ได้ใช้ชีวิตให้อยู่รอด

๗. ทรัพยากรนอกจากจะนำมาใช้ประโยชน์ทางตรง ก็ยังสามารถใช้ประโยชน์ทางอ้อมได้ด้วย อาทิ ใช้เพื่อความบันเทิง นันทนาการ ให้ความรู้ เป็นต้น

มองมุมกลับ... มองกลับมุม

คนส่วนใหญ่เมื่อมีโอกาสไปต่างประเทศ แล้วเค้าคิดกันอย่างไร มองอะไรกันแบบไหนนะ?
แต่ก่อนเมื่อผมมีโอกาสผมมักจะมองว่า บ้านเมืองเค้ามีอะไรบ้างนะ เป็นยังไง ต่างจากบ้านเราตรงไหน
อะไรที่ดีๆก็เก็บเอามาคิดว่า มันน่าจะใช้พัฒนาบ้านเมืองเรา
แต่ ณ ตอนนี้ ผมออกมาข้างนอกอีกครั้ง แล้วมองย้อนน.. กลับไป
ในเวลาที่เราอยู่ข้างนอก มันอาจทำให้เราเห็นประเทศไทย ได้ละเอียดมากขึ้นก็ได้
เมื่อเราก้าวออกมาข้างนอก เราพยายามที่จะมองสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยผ่านพบมาก่อน
ตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆที่ไม่เคยเห็น ไอ้นี่บ้านเราไม่มี ไอ้โน่นบ้านเราไม่มี
ไอ้นีบ้านเรามีแต่มันแปลกเนอะไม่เหมือนบ้านเรา บ้านเราน่าจะมีอย่างนี้บ้าง มีอย่างโน้นบ้าง
บ้านเราน่าจะเป็นอย่างนี้บ้าง น่าจะเป็นอย่างโน้นบ้าง
แต่แล้วรู้หรือไม่ว่าทำไมบ้านเราถึงไม่เป็นแบบนี้ ถึงไม่มีแบบนั้น
เรารู้จักตัวเองกันดีพอหรือยัง????
แต่ก่อนผมก็ได้แต่มองคนไทยในบางมุม ทุกวันนี้ก็ยังมองในบางมุมอยู่ดี
แต่ผมพยายามที่จะมองมุมกลับ มองกลับมุมบ้าง เผื่อจะรู้จักและเข้าใจคนไทยมากขึ้น

อย่าเอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐานให้กับตัวเอง

คนเราอย่าเอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐานให้กับตัวเองเลย

บางคนใช้ อายุ เป็นบรรทัดฐาน ยอมใครไม่ได้ ฟังใครไม่เป็น
เพราะคิดว่าตนเองอาวุโส
บางคนใช้ วุฒิการศึกษา เป็นบรรทัดฐาน ฟังใครไม่เป็น ยอมใครไม่ได้
เพราะคิดว่าตนเองมีการศึกษา

แต่ก็นั่นแหละ อายุและการศึกษา ก็ไม่ได้ทำให้ทุกคน เก่ง ฉลาด เป็นคนดีได้เหมือนกันหมดทุกคน
คนที่ได้รับการศึกษามาระดับหนึ่งก็ใช่ว่าจะรู้ทุกเรื่องไปเสียเมื่อไหร่
และก็ไม่มีใครหรอกที่จะรู้ไปเสียทุกเรื่อง

จากอดีต... สู่ปัจจุบัน 2552

ภาพความทรงจำเก่าๆ สมัยเป็นเด็ก กับชีวิตเด็กสมัยนี้มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
แต่ก่อนต้องหิ้วกระเป๋า หิ้วปิ่นโตไปโรงเรียน เดินลัดเลาะคันนา หรือไม่ก็ถนนลูกรัง ดินแดงไปโรงเรียน
พอหน้าฝนก็ตั้งนั่งเรือไป เพราะน้ำท่วม เดินกันลำบาก
หน้าแล้ง ก็เดินลัด บ่อบัวชาวบ้านเค้า เพราะน้ำแห้งจนดินแตกระแหง
วันนี้... ไม่มีแล้ว เด็กๆนั่งรถโรงเรียน ไม่ต้องลำบาก
ลองให้เด็กสมัยนี้มาเดิน ไม่กี่เมตรก็หอบแฮ่กๆแล้ว
คนหันมาใช้รถยนต์กันมากขึ้น ถนนเมืองไทยเต็มไปด้วยรถยนต์
ถนนไม่ได้ถูกจัดสรรปันส่วนไว้เพื่อ คนเดินเท้า หรือจักรยานบ้างเลย
ซึ่งต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว การคมนาคมขนส่งสาธารณะถือเป็นสิ่งสำคัญ
ที่จะลดการใช้รถยนตต์ส่วนตัว

หากย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะบอกทุกๆคนให้ช่วยกันอนุรักษ์และ
ดำรงชีวิตด้วยวิถีดั้งเดิมที่เคยเป็นมา แม้มันจะไม่ทันสมัยก็ตามที
คนเราควรค้นหาตัวเองให้เจอ และรักษาความเป็นเอกลักษณ์ (Uniqueness)
ความแตกต่าง (Diversity) เพราะสิงเหล่านี้แหละที่ทำให้เรามีคุณค่า ไม่ต้องเลียนแบบใคร

โครงการ "เมืองไทยน่าอยู่" ตอนที่ ๑

ทำงานไปทั่วภูมิภาค แล้วก็อพยพมาอยู่ต่างบ้านต่างเมืองอย่าง ญี่ปุ่น ที่เค้าว่ากันว่าพัฒนาเจริญก้าวหน้าที่สุด ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผมต้องยอมรับเลยว่าทั้งๆเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และในขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้ถูกปล่อยปะละเลย และวัฒนธรรมเก่าแก่ทั้งหลายที่ก็ยังคงอนุรักษ์ มองดูทุกอย่างจัดการไว้เป็นอย่างดี ทั้งนี้อาจเป็นเพราะประเทศญี่ปุ่นเกิดวิกฤตในหลายๆด้านตั้งแต่หลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และนอกจากนั้นสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะการเกิดภัยธรรมชาติต่างๆมากมาย และดูจะเป็นเรื่องธรรมดาก็แผ่นดินไหวที่ตึกอาคารต่างๆได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ทุกอย่างดูราวกับว่าเค้าได้เตรียมการเพื่อรองรับสถานการ์ณทุกอย่างแล้ว... คนญี่ปุ่นเป็นคนที่มองการณ์ล่วงหน้าเสมอ เตรียมพร้อม มองปัญหาก่อนที่ปัญหาจะเกิด



พอย้อนมามองเมืองไทย ผมบอกได้เลยการที่ได้เกิดในเมืองไทยเป็นโชคดีมากที่สุดแล้ว เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ทั้งพื้นดินและพื้นน้ำ แต่ทำไมประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่บางครั้งถูกมองข้ามหรือดูแคลน(ในความรู้สึกของผม) สาเหตุหลักก็มาจากคนไทยเองนี่แหละ คนไทยเองยังไม่ภูมิใจในความเป็นไทยแล้วจะให้ใครมาภูมิใจ คนไทยนิยมของนอก เห่อของฝรั่งต่างชาติ ร้องเท้า เสื้อผ้า กระเป๋าแบรนเนมจากนอก ความสุขของคนไทยยึดติดกับวัตถุมากขึ้นทุกวันๆ นอกจากนั้นผมยังมองว่าคนไทยติดนิสัย ทำอะไรได้ตามใจคือไทยแท้ ทำให้เราอยากทำอะไรก็ได้ตามใจกรู โดยที่ไม่สนใจคนรอบข้างว่าจะเป็นยังไง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมือง) นอกจากจะทำอะไรตามใจ บางครั้งไม่ยอมรับฟังความเห็นคนอื่นหรือว่าฟังๆไปอย่างนั้นเอง หรือบางทีอาจจะพูดได้ว่าคนไทยขาดทักษะในการฟัง การสื่อสาร (อันนี้ก็รวมถึงตัวผมเองด้วย แต่ก่อนผมก็ว่าผมเป็นคนพูดน้อย ฟังมากแล้วนะ พอมาเรียนรู้ชีวิตคนญี่ปุ่น มันทำให้ผมรู้ว่าปัญหาของผม ปัญหาของคนไทยมากยิ่งขึ้น)

หากคนไทยมีความสุขกับสิ่งที่เป็น และรู้คุณค่าและภูมิใจในสิ่งที่เป็น่และช่วยกันดูแลและบำรุงรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่มีมาแต่โบราณ ผมว่าเมืองไทยจะเป็นเมืองที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้นและไม่ถูกดูแคลน สักวันผมจะกลับไปพร้อมกับโครงการ "เมืองไทยน่าอยู่"

๑. ผมอยากบอกให้ทุกคนรู้ว่า ชาวไร่ ชาวนา ชาวประมง ทุกอาชีพล้วนแล้วแต่มีความสำคัญและสามารถมีความสุขในการใช้ชีวิตได้ทั้งนั้น ความสุข ไม่ใช่แค่การมีเงินมีทองมากมายก่ายกอง ความสุขในการใช้ชีวิตคือการได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทางกาย ทางใจ มากกว่าการที่ต้องขวนขวายจนเกินตัว ชีวิตที่เรียบง่าย พออยู่พอกินในครอบครัว มีเวลาให้กัน ใช้เวลาร่วมกัน นี่ก็ถือว่าเป็นการใช้ชีวิตที่สุข สงบแล้ว

๒. เมื่อก่อนคนไทยอยากให้ลูกให้หลานเรียนสูงๆ เพื่อมาเป็นเจ้าคนนายคนจะได้ทำงานสบาย แต่ปัจจุบันบอกได้เลยว่าการเป็นเจ้าคนนายคนมันไม่ใช่เรื่องสบายเลย เมื่อโตขึ้นตำแหน่งสูงขึ้น ความรับผิดชอบมากขึ้น คิดมากขึ้น นอกจากนั้นเรียนสูงขึ้นก็ต้องย้ายที่อยู่ไปอีก ออกไปใช้ชีวิตข้างนอก บางครั้งถามว่าทำไมคนสมัยนี้ถึงทิ้งคนเฒ่าคนแก่ไว้บ้านนอก หรือเฝ้าบ้านล่ะ ก็เพราะความคิดอยากให้ลูกให้หลานได้เรียนสูงๆนี่เอง ครั้งพอเรียนจบก็ต้องทำงานในเมือง ก็ไม่รู้ว่าจะสุขหรือทุกข์ดี และบางทีระบบการศึกษาปัจจุบันก็ไม่ได้ทำให้คนเรามีความรู้มากขึ้น หรือว่าเป็นคนดีขึ้นด้วย

๓. ชีวิตคือ การเรียนรู้ ดังนั้นไม่เฉพาะการเรียนตามระบบเท่านั้นหรอกที่จะทำให้คนเรามีความรู้ ฉลาด รักษาตัวรอด ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข บางทีตาสีตาสาธรรมดามีความสุขกับการใช้ชีวิตมากกว่านักธุรกิจร้อยล้านพันล้านเสียอีก

๔. ทรัพยากรธรรมชาติ อากาศ แม่น้ำ ท้องไร่ ท้องนา วันข้างหน้าจะเป็นของใคร ก็เป็นของเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ ดังนั้น ณ ปัจจุบันสิ่งที่มีและสิ่งที่กำลังจะเป็นไปนั้น มันเป็นสิ่งที่เค้าทั้งหลายจะต้องช่วยกันดูแลและจัดการในแนวที่เค้าอยากให้มันเป็นไป แม่น้ำที่เคยใสสะอาดแต่ก่อนเคยโดดเล่นได้ เดี๋ยวนี้เค้าไม่มีโอกาสอย่างนั้นแล้ว ถนนที่แต่ก่อนเด็กๆปั่นจักรยานไปโรงเรียน เดินไปโรงเรียนกัน เดี๋ยวนี้เค้าทำเช่นนั้นไม่ได้อีกแล้ว เพราะถนนขวักไขว่ไปด้วยรถคันใหญ่ไม่เคยเห็นหัวคนเดินริมถนนเลยแม้แต่น้อย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นของเขาทั้งสิ้น เค้าจึงควรวางแผนและช่วยกันจัดการเพื่อให้ได้สิ่งที่เค้าต้องการ

๕. สิทธิที่เค้าพึงมี แม้จะเป็นเด็กก็ตาม แต่นั่นคือ มรดกที่เค้าจะได้รับมัองในอนาคตข้างหน้า เค้าต้องการมรดกแบบไหนกัน อากาศเป็นพิษ น้ำเน่าเสีย ถนนที่คร่าคร่ำไปด้วยรถยนต์ ต้นไม้มีเฉพาะในสวนสาธารณะ อันตรายในการใช้ถนนเช่นนั้นเหรอ

16.1.53

สถิติการวิ่ง ปี พ.ศ. 2552

วันที่  รายการ สถานที่ ระยะทาง(กม.) ระยะทางสะสม  อันดับที่      ถ้วยรางวัล
01 ก.พ. ดรุณา-นารีมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ร.ร.ดรุณานารี อัมพวา จ.สมุทรสงคราม 10 10 -
08 ก.พ. พันท้ายนรสิงห์มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน วัดพันท้ายฯ จ.สมุทรสาคร 10 20 -
15 ก.พ. ม.พระจอมเกล้าธนบุรีมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน มจธ. ทุ่งครุ ธนบุรี กรุงเทพ 21 41 5-1
08 มี.ค. เขากบ มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน 52 จ.นครสวรรค์ 10 51 3-2
29 มี.ค. The 28th Sakura Asahi Kenkoh Marathon Sakura, Chiba, JAPAN 42 93 -
11 เม.ย. พญาลิไทมินิมาราธอน ต.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย 10 103 -
12 เม.ย. วิ่งผลัด สงกรานต์มาราธอน ปีที่ 23 สวนลุมพินี กรุงเทพ 12.5 105.5 -
03 พ.ค. 40 ปี กฟผ.มินิมาราธอน กระทรวงสาธารณะสุข จ.นนทบุรี 10 115.5 -
10 พ.ค. อ่างทองมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน วัดขุนอินทรประมูล อ.เมือง จ.อ่างทอง 21 136.5 3-3
17 พ.ค. KFC เพื่อสังคมมินิมาราธอน พัทยา จ.ชลบุรี 10 146.5 -
23 พ.ค. ๑๐๐ ปีเมืองแกลง มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ถ.บ้านบึง-แกลง (กม.3) จ.ระยอง 21 167.5 -
24 พ.ค. จันทบุรีมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน สวนธารณสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อ.เมือง จ.จันทบุรี 21 188.5 -
31 พ.ค. บางปูกาชาดมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ 21+ 209.5 5-4
07 มิ.ย. วิ่งผลัด อ่าวไทย สู่ อันดามัน (สงขลา-สตูล) 2552 สงขลา-สตูล ปากบารา 13 222.5 -
14 มิ.ย. Laguna Phuket Int’l Marathon ลากูน่า จ.ภูเก็ต 42 264.5 -
21 มิ.ย. ลานสการมาราธอน ครั้งที่ 5 อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช 42 306.5 -
05 ก.ค. อบจ. สุราษฎร์ธานีมาราธอน สะพานนริศ ริมแม่น้ำตาปี อ.เมือง จ.สุราษฎร์ฯ 42 348.5 5-5
06 ธ.ค. Angkor Wat International Half Marathon Angkor Wat, Siam Reap, Cambodia 21 369.5 -

ปีนี้วิ่งรวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 370 กม.เอง
เนื่องจากมีการหักเหของชีวิต มีเหตุให้ต้องอพยพมาอยู่ญีปุ่นในครึ่งปีหลัง
ก็เลยได้มาแค่เนี้ยละครับปี 2552 ส่วนปี 2553 คงจะน้อยลงกว่านี้แน่เลย
เพราะที่ญี่ปุ่นไม่ได้จัดวิ่งทุกอาทิตย์เหมือนเมืองไทย
ค่าสมัครก็แพงกว่าบ้านเราอีก บ้านเราสอง สามร้อยบาทก็วิ่งได้แล้ว
อยู่ที่นี่ค่าสมัครอย่างเดียวก็เป็นพันเข้าไปแล้ว... แต่ยังซ้อมไปเรื่อยๆ
กลับไปเมืองไทยเมื่อไหร่ เป็นได้เห็นดีกัน อิ อิ