26.6.51

คุณค่าของ "ถั่ว" ชนิดต่างๆ



พวกเราคงจะได้ยินคำแนะนำให้กินถั่วเปลือกแข็ง (nut / นัท) วันละ 1 ฝ่ามือเล็กๆ หรือน้อยกว่า 1 ฝ่ามือหน่อย เพื่อสุขภาพ
วันนี้มีข่าวดีจากหน่วยงานโภชนาการออสเตรเลียคือ ถั่วลิสง (peanut) ก็มีดีพอๆ กับถั่วเปลือกแข็ง (nut / นัท) เหมือนกัน ต่างกันที่ราคาถูกกว่า และหาซื้อได้ง่ายในบ้านเรา

เว็บไซต์ทางด้านโภชนาการออสเตรเลีย (www.nutritionaustralia.org) กล่าวว่า ถั่วลิสงมีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับนัท(ถั่วเปลือกแข็ง) เช่น อัลมอนด์ บราซิลนัท เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ

ข้อดีเป็นพิเศษของนัท(ถั่วเปลือกแข็ง) เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วลิสงได้แก่

มีเส้นใย(ไฟเบอร์) โปรตีน สารพฤกษเคมี(สารคุณค่าพืชผัก) และสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) สูง
มีไขมันชนิดเลว หรือไขมันอิ่มตัวต่ำ

มีไขมันชนิดดีมาก หรือไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (monounsaturated fatty acids / MUFA) สูง ไขมันชนิดนี้ช่วยลดโคเลสเตอรอลชนิดร้าย (LDL) และมีแนวโน้มจะช่วยเพิ่มโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL)

คุณสมบัติของนัท(ถั่วเปลือกแข็ง) เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วลิสงปรากฏดังตาราง (ตารางที่ 1) คุณสมบัตินี้จะด้อยลงไปมากถ้านำไปทอด เนื่องจากน้ำมันชนิดดีจะซึมออกมา และน้ำมันที่ใช้ทอดจะซึมเข้าไป
ตารางที่ 1: แสดงปริมาณไขมันในนัท(ถั่วเปลือกแข็ง) เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วลิสง ไขมันชนิดดีมากหรือ monounsaturated fatty acid / MUFA) และไขมันชนิดเลวหรือไขมันอิ่มตัว

อาหาร: ไขมันทั้งหมด(%)/ ไขมันอิ่มตัว(%)/ ไขมัน MUFA(%)

อัลมอนด์: 52/ 5.20/ 35.36
บราซิล นัทส์: 66/ 17.16/ 23.76
เม็ดมะม่วงหิมพานต์: 46/ 9.20/ 28.52
เฮเซล นัทส์: 63/ 5.04/ 51.66
มาคาดาเมีย นัทส์: 74/ 11.84/ 60.68
ถั่วลิสง: 49/ 7.35/ 24.99
พีแคนส์: (Pecans) 68/ 5.44/ 44.88
ไพน์ นัทส์: 61/ 9.15/ 24.40
พาสทาชิโอ: 48/ 6.24/ 34.56
วอล นัทส์: 62/ 6.20/ 14.88

จากตารางข้างต้น จะเห็นว่า ถั่วเปลือกแข็ง(นัทส์) เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วลิสงส่วนใหญ่มีไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นไขมันชนิดไม่ดีต่ำ มีไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (MUFA) หรือไขมันชนิดดีมากสูง

นอกจากนั้นยังมีคุณประโยชน์พิเศษอื่นๆ อีก เช่น
บราซิล นัทส์มีวิตะมินบี 1 และเซเลเนียม(ช่วยป้องกันมะเร็ง)สูง
เม็ดมะม่วงหิมพานต์มีธาตุเหล็ก(ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง และสังกะสีช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค)

ถั่วลิสงมีวิตะมินบี 2,3 แคลเซียม และวิตะมินอีสูง
พาสทาชิโอส์มีสารพฤกษเคมี หรือสารคุณค่าพืชผัก (plant sterols) ที่ช่วยลดการดูดซึมโคเลสเตอรอลจากอาหารเข้าไปในร่างกาย

ถั่วลิสงมีค่าดัชนีน้ำตาล (glycemic index / GI) ต่ำมากคือ 14 ต่ำกว่าข้าวขาว (70) และข้าวกล้อง (55)

ถั่วลิสงเป็นอาหารที่ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นช้าๆ เหมาะกับการนำไปใช้เสริมการลดความอ้วน เพราะทำให้อิ่มได้นาน

อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง เช่น น้ำตาลกลูโคส (GI = 100) ฯลฯ ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นเร็ว-ลงเร็ว ทำให้หิวบ่อย

อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ถั่วลิสง (GI = 14) ฯลฯ ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นช้า-ลงช้า ทำให้อิ่มนาน

ข้อควรระวังสำหรับการเตรียมถั่วลิสงคือ ต้องเลือกเมล็ดถั่วที่ดี เตรียมแล้วทิ้งไว้ให้เย็น เก็บในภาชนะปิดสนิท เก็บในที่เย็นและแห้ง เช่น ตู้เย็น ฯลฯ และไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา ซึ่งอาจมีสารก่อมะเร็ง (อะฟลาทอกซิน) ปนเปื้อนได้

ข้อควรระวังสำหรับถั่วเปลือกแข็ง(นัทส์) เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วลิสงคือ "น้อยไว้ละดี" ไม่ควรกินเกินครั้งละ 1 ฝ่ามือน้อยๆ (ไม่รวมนิ้วมือ) เคี้ยวช้าๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึก "อิ่ม" ถ้าต้องการนำไปใช้ลดความอ้วน... ให้เดินหลังกินถั่วลิสง 10-20 นาทีทุกครั้ง จึงจะได้ผลดี

ถึงตรงนี้ขอให้พวกเรามีความสุขกับการกินถั่วเปลือกแข็ง(นัทส์) เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วลิสงชนิดที่เตรียมมาอย่างดี และไม่ผ่านการทอดครับ…

ข้อมูลจาก http://gotoknow.org/blog/health2you

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณนะค่ะ สำหรับบทความ