29.12.49

สถิติการวิ่งทั่วไป ปี 2549

สถิติการวิ่ง ปี พ.ศ. 2549

วันที่ - รายการ - สถานที่ - ระยะทาง(กม.) - ระยะสะสม - อันดับที่ -ถ้วยรางวัล
15 ม.ค. สสส. จอมบึงมาราธอน ครั้งที่21 จ.ราชบุรี 42 42 4-1
29 ม.ค. สัตหีบมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน จ.ชลบุรี 21 63 4-2
05 ก.พ. ดอนบอสโกมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน กกท. หัวหมาก 21 84 -
12 ก.พ. 80 ปีม.ราชภัฎเพชรบุรีมาราธอน จ.เพชรบุรี 42 126 -
26 ก.พ. น้ำใจไมตรีเชียงรายมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน จ.เชียงราย 10 136 -
05 มี.ค. Ambank Kuala Lumpur Int’l Marathon KL,Malaysia 42 178 -
12 มี.ค. รพ.สิชลมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน อ.สิชล นครศรีธรรมราช 21 199 3-3
19 มี.ค. ING Thailand Temple Run 2006 อ.อัมพวา สมุทรสงคราม 42 241 -
26 มี.ค. Saberkas RH Marathon 2006 Kuching, Sarawak Malaysia 42 283 RM500
23 เม.ย. เดิน-วิ่ง เทิดพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ พระราม9 10 293 -
30 เม.ย. สิงห์บุรีมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 12 ศาลาประชาคมปึงเถ่ากงม่า สิงห์บุรี 21 313 -
06 พ.ค. วิ่งพิทักษ์หัวหินเทิดไท้ในหลวงฯครั้งที่3 หัวหิน จ.ประจวบฯ 25 338 -
12 พ.ค. เดินวิ่งสมาธิ วิสาขะบูชา บางปู จ.สมุทรปราการ 5 343 -
14 พ.ค. หนองคาย (ไทย-ลาว)มาราธอน อนุเสาวรีย์ปราบฮ่อ จ.หนองคาย 42 385 2-4
21 พ.ค. ทัพฟ้ามินิ-ฮาล์ฟมาราธอน กองบัญชาการกองทัพอากาศ 21 406 -
28 พ.ค. ฉลองครองราชย์ฯ 60 ปี อัลตร้ามาราธอน 60K อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 60 466 ได้ถ้วยทุกคน
04 มิ.ย. เขื่อนคลองท่าด่านมาราธอน ครั้งที่1 เขื่อนคลองท่าด่าน จ.นครนายก 42 508 -
11 มิ.ย. ลานสกามาราธอน ครั้งที่ 2 อ.ลานสกา นครศรีธรรมราช 42 550 4-5
18 มิ.ย. ภูเ้ก็ตนานาชาติมาราธอน ครั้งที่ 1 จ.ภูเก็ต 42 592 -
02 ก.ค. เดิน - วิ่งมินิมาราธอน สร้างฝันกรีฑาคนพิการฯ กระทรวงสาธารณสุข 10 602 5-6
09 ก.ค. สวนธนรักพ่อหลวงมินิมาราธอน ณ สวนธนบุรีรมย์ กรุงเทพ 12 614 -
11 ก.ค. 50 ปี รพ.พระพุทธบาท ประเพณีตักบาตรดอกไม้ มินิ-ฮาล์ฟฯ วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี 21 635 -
16 ก.ค. พัทยามาราธอน พัทยา ซ.6 จ.ชลบุรี 21 656 -
23 ก.ค. รพ.สมเด็จยุพราชเวียงสระมินิมาราธอน ครั้งที่ 4 อ.เวียงสระ สุราษฏร์ธานี 10 666 4-7
30 ก.ค. Penang Bridge Int’l Marathon 2006 Penang, Malaysia 42 708 -
06 ส.ค. กฟผ.แม่เมาะมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน จ.ลำปาง 10 718 5-8
13 ส.ค. คลองคูณมินิมาราธอน ครั้งที่ 1 อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร 10 728 2-9
26 ส.ค. บึงเสนาทมินิมาราธอน ร.ร.การกีฬานครสวรรค์ 10 738 2-10
10 ก.ย. Putrajaya International Marathon Putrajaya, Malaysia 42 780 RM200
17 ก.ย. อนุสรณ์สถานฯภูพานน้อยมาราธอน อ.นาแก จ.นครพนม 42 822 5-11
24 ก.ย. งานวิ่งเดือนสิบ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 10 832 10-12
08 ต.ค. พระประแดงมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน พระประแดงจ.สมุทรปราการ 21 853 -
22 ต.ค. วิ่งเฉลิมพระเกียรติฯ เขื่อนป่าสักฯ จ.ลพบุรี 10 863 4-13
05 พ.ย. เขาค้อมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน สำนักงานสาธารณสุข อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ 21 884 -
12 พ.ย. เขาชะโงกซุปเปอร์ฮาล์ฟ ร.ร.นายร้อย จปร. เขาชะโงก จ.นครนายก 30 914 -
19 พ.ย. แต้จิ๋ว อิ่ม เฮง บุญ สวนสุขภาพสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย กทม. 12 926 -
26 พ.ย. Standard Chartered Bangkok Marathon กรุงเทพ 42 968 -
09 ธ.ค. วิ่งเฉลิมพระเกียรติสู่เขาพระวิหาร มิตรภาพไทย-กัมพูชา ร.ร.บ้านภูมิซรอล อ.กันทรลักษณ์จ.ศรีษะเกษ 10 978 3-14
10 ธ.ค. พนมรุ้งมาราธอน ร.ร.พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ 42 1020 2-15
24 ธ.ค. เชียงใหม่มาราธอน ประตูท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 42 1062 4-16

ปี 2549 ร่วมลงสนามที่มีการแข่งขันทั้งสิ้น 40 สนาม
รวมระยะทางทั้งหมด 1062 กิโลเมตร
ร่วมทำการแข่งขันสะสมระยะทาง ได้รองชนะเลิศอันดับที่ 6 และถ้วยรางวัลมิตรภาพ อีก 1ใบ

2.11.49

Aquaculture Development in ASEAN Region

Aquaculture Development in ASEAN Region ตีพิมพ์ลงในวารสาร Fish for the People (Volume1, No.1:2003)


1.11.49

Species Composition, Abundance and Distribution of Cephalopod Paralarvae in the South China Sea


Species Composition, Abundance and Distribution of Cephalopod Paralarvae in the South China Sea: Sabah, Sarawak (Malaysia) and Brunei Darussalam Waters. SEAFDEC/TD, 2002. Samut Prakan, TD/RES/53, 29 p.(Narumol Thapthim)เป็นการศึกษาชนิด ความสมบูรณ์และการแพร่กระจายของลูกหมึกวัยอ่อนในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะพื้นที่น่านน้ำซาบา ซาราวัค ของประเทศมาเลเซีย และน่านน้ำประเทศบรูไน สนใจรายละเอียดติดต่อได้ที่ ห้องสมุดศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (http://td.seafdec.org) โทร.02-42561117

9.10.49

พระประแดงมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน

ชื่องาน: พระประแดงมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน
สถานที่ : พระประแดง จ.สมุทรปราการ
วันที่ : 8 ตุลาคม 2549
สรุปผลการประเมิน TRES: 76 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: เส้นทางการแข่งขันของสนามนี้ ทั้งระยะมินิ และฮาล์ฟ นักวิ่งได้ร่วมวิ่งกันบนสะพานที่สร้างใหม่จากฝั่งธนบุรี (พระประแดง) ข้ามไปถนนปู่เจ้าสมิงพราย และพระราม 3 หรือที่หลายๆคนเรียก “สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม” เส้นทางการแข่งเริ่มปล่อยตัวจาก อ.พระประแดง วิ่งขึ้นบนสะพานระยะมินิวิ่งไปกลับตัวบนสะพาน ส่วนระยะฮาล์ฟหลังจากปล่อยตัวจากพระประแดงวิ่งขึ้นสะพานไปกลับตัวที่จุดแรกก่อนออกพระราม 3 จากนั้นวิ่งย้อนกลับไปขึ้นสะพานอีกครั้งแล้วไปกลับตัวจุดที่ 2 ก่อนออกปู่เจ้าสมิงพราย จากนั้นวิ่งย้อนกลับมาเส้นสุขสวัสดิ์ ก่อนออกสุขสวัสดิ์เลี้ยวซ้ายเข้าพระประแดง เส้นทางการวิ่งถือว่าสวยงามมากช่วงเช้าอากาศเย็นสบาย เห็นทิวทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เต็มไปด้วยตึกสูงตระหง่าน เส้นทางไม่ได้ถูกปิดร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับนักวิ่งดังนั้นนักวิ่งก็ต้องระมัดระวังตัวเองขณะวิ่ง โดยเฉพาะบริเวณเส้นทางหลังจากลงสะพานวงแหวนอุตสาหกรรมมาแล้ว ประมาณ 2 กม. เข้าสู่เส้นชัย บริเวณพระประแดงซึ่งปกติแล้วบริเวณนั้นจราจรคับคั่งอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องการปิดถนนบริเวณนั้นจึงไม่ต้องพูดถึง นักวิ่งต้องหลบรถขึ้นมาวิ่งบนฟุตบาท แถมช่วงท้ายๆป้ายบอกทางไม่ชัดเจน ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยบอกทางทำให้นักวิ่งหลายคนหลงทาง

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สำหรับพระประแดงมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน แม้ผู้จัดจะคนละรายกันแต่ปัญหาหลักของเส้นทางการวิ่งแห่งนี้คือ การปิดถนนหรือปิดจราจร เนื่องจากพระประแดงมีแพข้ามฟากสำหรับรถจึงทำให้รถมีมากไม่สามารถปิดถนนได้แน่นอน ดังนั้นนักวิ่งที่สนใจวิ่งพระประแดงมินิ-ฮาล์ฟ ต้องยอมรับสภาพตรงจุดนี้ และเวลาแข่งขันต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูงไม่เช่นนั้นคุณอาจได้รับอันตรายได้ง่ายๆเช่นกัน แต่อย่างว่า ทั้งๆที่นักวิ่งก็พอจะรู้ว่าตัวเองต้องมาผจญกับอะไรแต่ก็มาวิ่งเพราะการวิ่งขึ้นสะพานที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆไม่ได้มีโอกาสได้วิ่งกันง่ายๆ บางคนก็ยอมเสี่ยงซักครั้ง ดังนั้นเพื่อแลกกับประสพการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตกับการต้องมาเสี่ยงอันตรายนิดหน่อย นักวิ่งก็ลองพิจารณาไตร่ตรองกันดูก่อนมาวิ่งละกันครับ....

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: คำแนะนำสำหรับผู้จัดอย่างแรกคงต้องขอให้ปิดถนน 100 เปอร์เซ็นต์ได้มั้ยคร้าบบ... ถ้าไม่ได้ก็ขอให้เจ้าหน้าที่คอยดูแลนักวิ่งจนเข้าเส้นชัยให้หมดก่อนได้มั้ย อย่าจัดงานแล้วปล่อยให้นักวิ่งต้องผจญภัยกันเองเลยครับ... สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้โดยส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากชมรมวิ่งในบริเวณใกล้เคียงซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาหลายๆจุดคลายไปได้บ้างเพราะนักวิ่งเข้าใจด้วยกันก็จะเข้าใจว่านักวิ่งต้องการอะไร แต่หากในอนาคตจะยังคงมีการจัดวิ่งในบริเวณอำเภอพระประแดง เชื่อได้ว่าหากนักวิ่งเลี่ยงได้ก็เลี่ยงสนามนี้ เว้นเสียแต่ว่าผู้จัดจะเปลี่ยนเส้นทางการจัดวิ่ง หรือหาเส้นทางวิ่งที่มีโอกาสได้วิ่งน้อยๆ เหมือนเช่นสนามนี้

25.9.49

วิ่งงานเดือนสิบเมืองนครศรีธรรมราช

ชื่องาน: วิ่งงานเดือนสิบเมืองนครศรีธรรมราช
สถานที่ : ณ สนามหน้าเมือง จ.นครศรีธรรมราช
วันที่ : 24 กันยายน 2549
สรุปผลการประเมิน TRES: 78 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: เส้นทางการแข่งขันของสนามนี้ ระยะทางหมื่นเมตร (10 กม.) วิ่งกันบนถนนเรียบลาดยางในตัวเมืองเมืองนครศรีธรรมราช เส้นทางแม้จะเป็นการวิ่งบนถนนในตัวเมืองแต่บรรยากาศบนในการแข่งขันต่างกับวิ่งในเมืองกรุงเป็นอย่างมาก อากาศสดชื่น ตามเส้นทางการแข่งขันมีโบราณสถานที่งดงามให้ได้ชื่นชมตลอดเส้นทาง สมกับเป็นเมืองประวัติศาสตร์ นอกจากนั้นการเตรียมการเพื่อความปลอดภัยของนักวิ่งดีมากทีเดียว การจราจรปิดสนิทให้นักวิ่งนับพันได้วิ่งกันอย่างปลอดภัย น้ำมีเพียงพอ มีป้ายบอกระยะทางที่ชัดเจน เป็นระยะ 10 กม.ที่มีคุณภาพมาก

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สำหรับสนามนี้เป็นสนามที่วิ่งไม่ยากเลย น่าวิ่ง นอกจากนั้นเหมาะจะเป็นสนามที่ใช้ประเมินฝีเท้าของตัวนักวิ่งได้เป็นอย่างดีในระยะ 10 กม. เพราะจะได้ปะทะฝีเท้านักวิ่งในรุ่นมากขึ้น เนื่องจากเป็นสนามที่นักวิ่งให้ความสนใจกันเยอะมากแม้จะมีเพียงแค่ระยะสั้นระยะเดียว แม้จะมีนักวิ่งมากผู้จัดใจดีเพิ่มรางวัลให้มากอันดับขึ้นด้วย นอกจากจะได้รู้ฝีเท้าว่าแย่แค่ไหนแต่ก็ยังมีโอกาสได้รับของรางวัลติดมือกลับบ้านเป็นที่ระลึกเหมือนกัน

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: สำหรับสนามนี้ในด้านเส้นทางการแข่งขัน ด้านเทคนิคต่างๆถือว่าทำได้ดีมากทีเดียว แต่หากผู้จัดมีการประสัมพันธ์ให้มากขึ้นนักวิ่งน่าจะไปร่วมงานกันมากขึ้น เนื่องจากงานวิ่งเดือนสิบเมืองนครจัดในช่วงงานประเพณีเดือนสิบของจังหวัด หากมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมและการแสดงในงานประเพณีเข้าไปด้วยจะเป็นการดียิ่งขึ้น นอกจากนักวิ่งจะได้ร่วมวิ่งออกกำลังกาย ก็ยังมีโอกาสชมบรรยากาศงานเดือนสิบ สัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมของคนเมืองคอน

เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่งดงามน่าอยู่มาก จากที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันหลายๆสนามที่จัดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราชบอกได้ว่าเป็นจังหวัดที่ดูสะอาดตามาก แต่เมื่อมีการจัดวิ่งที่มีนักวิ่งร่วมงานกันอย่างคับคั่งเช่นนี้ ก็เป็นธรรมดาที่ขยะมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นอยากให้ผู้จัดไม่ใช่เพราะงานวิ่งเดือนสิบเท่านั้น น่าจะมีแนวทางที่ช่วยทำให้นักวิ่งได้ตระหนักถึงความสะอาดของสถานที่และเส้นทางการแข่งขันที่บางครั้งเป็นสถานที่ที่งดงาม ซึ่งจะช่วยให้คนภายนอกรู้สึกว่างานวิ่งเป็นงานที่สวยงาม ไม่ใช่เพียงแค่ตอบสนองนักวิ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

18.9.49

ฉลองทรงครองราชย์ 60 ปี “สนุก” เสือภูเขา-วิ่งมาราธอน อนุสรณ์สถานฯ ภูพานน้อย ครั้งที่ 1

ฉลองทรงครองราชย์ 60 ปี “สนุก” เสือภูเขา-วิ่งมาราธอน อนุสรณ์สถานฯ ภูพานน้อย ครั้งที่ 1
ณ อนุสรณ์สถานฯ ภูพานน้อย ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม
วันที่ 17 กันยายน 2549
สรุปผลการประเมิน TRES: 61 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: สำหรับสนามนี้มีการแข่งขันทั้งสิ้น 3 ระยะ 10 21 และ 42.195 เส้นทางการแข่งขันวิ่งไป-กลับบนไหล่ถนนทั้ง 3 ระยะ โดยสตาร์ทจากหน้าอนุสรณ์สถานฯ ภูพานน้อย วิ่งออกไปทางเมืองนครพนม ซึ่งในระยะมาราธอนจะผ่าน อ.นาแก และไปกลับตัวบริเวณหน้าตลาดนัดโค-กระบือ เส้นทางโดยส่วนใหญ่ก็เป็นทางเรียบลาดยาง ยกเว้นช่วง 1.5 กิโลแรก และ กิโลสุดท้าย ที่เป็นเนิน ขาไปก็วิ่งลงเนิน ส่วนเที่ยวกลับเข้าสู่เส้นชัยต้องวิ่งขึ้นเนิน บรรยากาศระหว่างเส้นทางการแข่งขันมีลักษณะใกล้เคียงกันกับ นครพนมมาราธอน ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 1 ต.ค. ไม่รู้ว่าโชคดีของนักวิ่งในงานนี้หรือเปล่า เพราะช่วงประมาณ กม. ที่ 16 ถึง ราวๆ 24 มีฝนตกลงมาอย่างหนัก นักวิ่งก็ชุ่มฉ่ำกันเกือบถ้วนหน้า ยกเว้นแนวหน้าไม่กี่ท่านที่เกือบจะไม่ได้สัมผัส แต่หากฝนไม่ตก บอกได้เลยว่าสนามนี้ต้องร้อนเอามากๆเพราะริมไหล่ถนนแทบไม่มีเงาไม้มากนัก สำหรับน้ำในเส้นทางการแข่งขัน ครั้งแรกผู้จัดประกาศว่ามีทุกๆ 5 กิโล นักวิ่งมาราธอนอย่างเราเศร้าเลย แต่โชคดีที่หน่วยงานในชุมชนมาคอยตั้งจุดให้น้ำ โดยรวมแล้วก็มีน้ำครบทุก 2.5 กิโล แม้ว่าเส้นทางการแข่งขันจะไม่ได้ปิดสนิท แต่ว่าก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและอพปร. ของชุมชนให้การดูแลนักวิ่งเป็นอย่างดี

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: เนื่องจากการจัดการแข่งขันครั้งนี้เป็นการจัดขึ้นครั้งแรก นอกจากนั้นยังดูผู้จัดยังอ่อนประสพการ์ณค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงส่งผลให้การแข่งขันในครั้งนี้ไม่พร้อมเท่าที่ควร แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ได้เริ่มต้น และหวังว่าการประเมินผลในครั้งนี้จะเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการจัดการแข่งขันในครั้งต่อๆไป ปกติการจัดวิ่งระยะมาราธอนก็เป็นเรื่องที่ยากพอสมควรอยู่ ถ้าไม่แน่จริงก็ไม่มีผู้จัดรายใดจัดวิ่งระยะนี้ ส่วนใหญ่ก็จัดเพียง 10 กม. หรือ 21 กม. เป็นต้น ดังนั้นการจัดวิ่งระยะมาราธอนผู้จัดต้องมีความพร้อมและศักยภาพพอสมควร และงานนี้นอกจากผู้จัดจะจัดวิ่งมาราธอน ยังมีการจัดแข่งขันเสือภูเขาในวันเดียวกันอีกด้วย การจัด 2 กิจกรรมในวันเดียวเรียกว่าผู้จัดต้องมีความพร้อมและทีมงานที่ดีมากๆ จากที่ได้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ประเด็นสำคัญที่อยากแนะนำให้ผู้จัดได้นำไปพิจารณาและปรับปรุง ประการแรก คือ การประชาสัมพันธ์เพื่อให้นักวิ่งได้รับทราบข้อมูล ข่าวสาร และรายละเอียดที่ชัดเจนของงาน โดยทั่วกัน ซึ่งรวมไปถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน การจัดการแข่งขัน เพื่อนักวิ่งจะได้ประเมินตนเองในการเข้าร่วมแข่งขัน และในการจัดวิ่งระยะมาราธอนผู้จัดควรประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อนักวิ่งจะได้เตรียมตัวและฝึกซ้อมสำหรับการลงแข่งขัน การประชาสัมพันธ์ก็มีหลายรูปแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับกิจกรรมเช่นนี้ นั่นคือ โบรชัวร์หรือแผ่นพับของงาน ซึ่งต้องแจกแจงรายละเอียดให้ชัดเจน เพราะโดยส่วนใหญ่นักวิ่งจะยึดเอาเอกสารนี้เป็นสำคัญ และเป็นการยืนยันว่าจะมีการจัดการแข่งขันขึ้นจริง

ประเด็นถัดมาคือ ระบบการรับสมัคร รายงานตัว และรับรางวัล ในการแข่งขันครั้งนี้จะเห็นว่า การรับสมัครวิ่ง รายงานตัว และรับรางวัล ยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร จะเห็นได้ว่าช่วงรับเงินรางวัล มีนักวิ่งบางท่านเวียนเทียนเข้ามารับเงินรางวัล ทำให้เป็นผลเสียกับผู้จัดเอง เนื่องจากในทุกสังคมย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกันอยู่ ในกลุ่มนักวิ่งก็เช่นกันใบหน้าหรือความเก่งกาจไม่ใช่เครื่องประการันตีว่าเค้าจะเป็นคนดีเสมอ
ประเด็นที่ 3 เรื่องความปลอดภัยของนักวิ่งบนเส้นทางการแข่งขัน ระหว่างการแข่งขันในระยะมาราธอนถือว่าเป็นระยะที่นักวิ่งเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายมากว่าระยะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากภายนอกใยนเส้นทางการแข่งขัน และ อันตรายของระบบภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการขาดน้ำ ขาดน้ำตาล ขาดเกลือแร่ ความร้อน ตะคริว และอื่นๆ ดังนั้นรถพยายาลมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ควรมีรถพยาบาลเตรียมพร้อมอยู่ในเส้นทางการแข่งขันเสมอ ในการแข่งขันครั้งนี้ไม่มีเหตุการ์ณที่ร้ายแรงเกิดขึ้นอาจเนื่องมาจากจำนวนนักวิ่งที่มีน้อย และส่วนใหญ่เป็นนักวิ่งที่วิ่งมาราธอนกันประจำ ทำให้นักวิ่งรู้จักรักษาและระวังความปลอดภัยของตนเองได้ แต่หากเป็นนักวิ่งน้องใหม่ที่อยากลงมาราธอนความไม่พร้อมในเรื่องนี้ อาจทำให้เกิดผลเสียต่อการแข่งขันได้เช่นกัน

อีกประเด็นที่อยากฝากไว้ คือ เรื่องอาหารและเครื่องดื่มหลังจากการแข่งขัน ผู้จัดอาจมองข้ามไป แต่สำหรับนักวิ่งมาราธอนถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่ง เพราะเนื่องจากหลังจากที่นักวิ่งเริ่มปล่อยตัวออกไป ตั้งแต่ 04.00 น. กว่าจะเข้าสู่เส้นชัย ใช้เวลาวิ่ง 3-6 ชม. ซึ่งระหว่างเส้นทางไม่ได้ทานอะไรเข้าไป นอกจากน้ำและเกลือแร่ ดังนั้นนักวิ่งเสียเหงื่อและพลังงานไปมากพอสมควร เข้าเส้นชัยค่อนข้างที่จะเหนื่อยพอสมควร โดยเฉพาะนักวิ่งระยะ 42 กิโล ดังนั้นนักวิ่งต้องการอาหารเพื่อเข้าไปทดแทนพลังงานที่สูญเสียไปบ้าง เล็กๆน้อยๆก็ยังดี

ยังมีอีกหลายประเด็นที่อยากแนะนำแต่กลัวผู้จัดเข้ามาอ่านแล้วจะเสียกำลังใจไปซะก่อน เอาข้อดีมาพูดให้ฟังเป็นกำลังใจให้ผู้จัดบ้าง ปีหน้าจะได้จัดอีกดีกว่า สิ่งที่ประทับใจสำหรับงานนี้ คงจะเป็น ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของเจ้าหน้าที่ ประชาชน หน่วยงาน องค์กรในชุมชน และชุมชนใกล้เคียง ซึ่งจะเห็นได้ว่า การแข่งขันผู้จัดให้น้ำอย่างเป็นทางการ 3 จุด แต่อีกหลายๆจุดเป็นของหน่วยงาน อบต. หลายๆ อบต. ถือว่าเป็นการร่วมมือที่ช่วยให้งานนี้เป็นงานวิ่งที่น่าประทับใจเป็นอย่างมากประเด็นที่ 2 เรื่องที่พัก เนื่องจากบริเวณการจัดการแข่งขันมีโรงแรมที่พักที่ห่างออกไปพอสมควร นักวิ่งต่างถิ่นจากแดนไกล มาช่วงค่ำหาที่พักลำบาก ทางผู้จัดเตรียมที่พักฟรี กางเตนท์พร้อมเครื่องนอนฟรีแก่นักวิ่ง ถือว่าช่วยอำนวยความสะดวกให้นักวิ่งได้เป็นอย่างดี ประเด็นที่ 3 ความตั้งใจจริงของผู้จัดที่จะสนับสนุนให้คนสนใจมาออกกำลังกายด้วยการจัดการแข่งขันทั้งวิ่ง และจักรยานเสือภูเขา หากผู้จัดยังคงยืนหยัดและตั้งใจจริงเช่นนี้ต่อไป และมีศักยภาพพอที่จะจัดทั้งมาราธอนและเสือภูเขา ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมากๆ นอกจากนั้นผู้จัดยังช่วยรณรงค์และส่งเสริมให้เยาวชนสนใจมาร่วมกิจกรรมมากขึ้น โดยสังเกตได้จากการแบ่งกลุ่มอายุการแข่งขัน ถือว่าเป็นการกระตุ้นและให้โอกาสกับเยาวชนมากยิ่งขึ้น แต่อาจจะด้วยความมือใหม่ทำให้ถ้วยและรางวัลการแข่งขันในบางรุ่นไม่ได้ถูกแจกออกไป ก็เป็นที่น่าเสียดาย และสุดท้าย การจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนในครั้งนี้ ผู้ประเมินไม่ได้มีอคติต่อผู้จัดแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการให้ผลการประเมินในครั้งนี้ได้ถูกนำไปพัฒนาและปรับปรุงการแข่งขันในครั้งต่อๆไปให้ดีขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อผู้จัดและจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคม และหากผู้จัดยังไม่ตัดใจซะก่อนก็ขอเป็นกำลังใจให้ และยินดีไปร่วมการแข่งขันครั้งที่ 2 แน่นอน...

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
สำหรับสนามนี้เป็นสนามมาราธอนที่วิ่งไม่ยากมากนัก แต่สิ่งที่นักวิ่งต้องเตรียมตัวรับมือนั่นก็คือแสงแดดและความร้อน แม้อากาศจะไม่ร้อนเหมือนสนามไอเอ็นจี หรือสงกรานต์มาราธอน แต่เส้นทางที่วิ่งตามไหล่ถนนไม่ค่อยมีเงาไม้ให้หลบนะจ๊ะ

27.8.49

บึงเสนาทมินิมาราธอน ครั้งที่ 1

บึงเสนาทมินิมาราธอน ครั้งที่ 1
ณ โรงเรียนกีฬานครสวรรค์ จ.นครสวรรค์
วันที่ 26 สิงหาคม 2549
สรุปผลการประเมิน TRES: 72 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: สำหรับเส้นทางการแข่งขันของสนามนี้เป็นการวิ่งวนเข้าสู่เส้นชัย เส้นทางการแข่งขันเหมือนเป็นเส้นทางครอสคันทรี มีทั้งถนนคอนกรีต ถนนลาดยาง ถนนลูกรัง ถนนลูกรังปนดิน เป็นเส้นทางที่แม้จะไม่มีเจ้าหน้าปิดการจราจรแต่ก็ไม่มีรถมาวิ่งกวนใจนักวิ่ง บางส่วนของเส้นทางการแข่งขันเป็นเหมือนป่าอ้อแซมด้วยหงอนไก่ แต่อาจจะเป็นเพราะผู้จัดยังไม่คิดว่าจะจัดเป็นงานวิ่งเปิดมากนัก เลยทำให้การเตรียมการบางส่วนยังไม่ดีเท่าที่ควร อาทิ ป้ายบอกระยะ หรือ รถพยาบาลระหว่างเส้นทางเป็นต้น

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: ในอนาคตสำหรับผู้ที่สนใจจะร่วมการแข่งขันในงานนี้ หากไม่มีการเปลี่ยนเส้นทางการแข่งขัน เส้นทางการแข่งขันคงเป็นเส้นทางเดิม นักวิ่งคงไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากมายนัก เพราะเส้นทางไม่โหดมากนัก แต่อาจต้องเลือกร้องเท้าคู่ใจซักนิดเพื่อให้รับกับเส้นทางครอสคันทรีหน่อย เนื่องจากการแข่งขันในครั้งนี้จัดโดยโรงเรียนกีฬาจึงทำให้ผู้จัดตระหนักในเรื่องความเหมาะสมของระยะทางกับนักวิ่งมากกว่ารายการอื่นโดยทั่วไป ดังนั้นนักวิ่งก็ควรเคารพกฎกติกามารยาทที่ผู้จัดได้ตั้งขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ได้เพื่อประโยชน์ต่อผู้จัดเลยแต่เป็นประโยชน์ต่อตัวนักวิ่งเอง

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ผู้จัดมีการประชาสัมพันธ์ไม่ดีเท่าที่ควรทำให้นักวิ่งไม่มากนัก แต่ทั้งนี้อาจเนื่องจากผู้จัดเองยังไม่พร้อมที่จะต้อนรับนักวิ่งที่มามากเกินไปอาจทำให้งานออกมาไม่ดี หรือจริงๆอาจจะเป็นเพียงจัดเป็นกิจกรรมภายในแต่เปิดโอกาสให้นักวิ่งในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมบ้างเลยไม่ได้ให้ความสำคัญในด้านการประชาสัมพันธ์มากนัก แต่หากจะมีการจัดในครั้งต่อๆไปจะเป็นการดีถ้าประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นอีก เพราะเส้นทางสนามนี้เป็นเส้นทางสวยงาม และเป็นธรรมชาติ เหมาะที่จะมาวิ่งเพื่อสุขภาพ

สิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำจากการจัดงานในครั้งนี้คือเรื่องค่าสมัคร 150 บาท นักวิ่งได้เสื้อที่ระลึก 1 ตัวแต่ไม่มีเหรียญ โดยส่วนใหญ่นักวิ่งอยากได้เหรียญไว้เป็นที่ระลึกดังนั้นเป็นไปได้อยากให้ผู้จัดจัดทำเป็นเหรียญที่ระลึกก็จะเป็นการดีไม่น้อย หรือจัดทำเหรียญแต่ไม่มีเสื้อที่ระลึกเป็นต้น

14.8.49

คลองคูณมินิมาราธอน ครั้งที่ 1

คลองคูณมินิมาราธอน ครั้งที่ 1
ณ วัดคลองคูณ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร
วันที่ 13 สิงหาคม 2549
สรุปผลการประเมิน TRES: 82 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: สำหรับสนามนี้ระยะการแข่งขันมีเพียงระยะเดียวเท่านั้น คือ 10 กม. เส้นทางการแข่งขันเป็นถนนเรียบลาดยาง ไม่มีเนิน วิ่งไป-กลับ 10 กิโลจุดสตาร์ทและเส้นชัยเป็นจุดเดียวกัน ระหว่างเส้นทางการแข่งขันมีป้ายบอกระยะทางที่ชัดเจน และมีจุดให้น้ำที่เพียงพอสำหรับนักวิ่ง สภาพอากาศระหว่างการแข่งขันถือว่ากำลังดี ไม่ร้อนมากนัก ตามเส้นทางการแข่งขันก็เป็นท้องทุ่งนาเขียวขจี นักวิ่งวิ่งได้สบายทั้งเท้าใหม่เท้าเก่า แต่บริเวณจุดปล่อยตัว/เส้นชัย อาจจะแคบไปหน่อย หากนักวิ่งมาร่วมงานมากๆ อาจจะสร้างความลำบากยุ่งยากได้ไม่น้อย

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สนามนี้คงไม่ต้องแนะนำอะไรกันมากนัก เป็นสนามที่วิ่งง่ายๆ สบายๆ ไม่มีอะไรต้องกังวล สำหรับนักวิ่งที่ชอบบรรยากาศท้องทุ่งนา ธรรมชาติก็ลองมาสัมผัสกันดูสักครั้ง

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: สำหรับสนามนี้เป็นสนามใหม่อีกสนาม จัดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่แม้จะเป็นครั้งแรกแต่ถือว่าจัดได้ดีมากๆ ด้วยความร่วมมือขององค์กรและชุมชนในท้องถิ่นทำให้งานครั้งนี้จัดออกมาได้ประทับใจนักวิ่งเป็นอย่างมาก แม้จะเป็นสนามเล็กๆแต่เป็นสนามที่สร้างสรรค์ เป็นสนามกล้าที่จะแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าสมัครที่ราคาถูกเพียง 100 บาทเท่านั้น กล้าเสี่ยงที่จะบอกว่าหากนักวิ่งอยากได้เสื้อก็ซื้อเสื้อเพิ่มอีก 100 บาท หากไม่ต้องการไม่เป็นไร นอกจากนั้นสำหรับนักวิ่งเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมก็มีเหรียญแจกให้ด้วย ถือว่าเป็นงานวิ่งเล็กๆแต่ใจกล้าเกินตัว

สิ่งที่อยากจะแนะนำสำหรับการแข่งขันครั้งต่อไป การประชาสัมพันธ์ที่ควรจะมีมากกว่านี้ ครั้งนี้ถือว่าการประสัมพันธ์ยังไม่ดีเท่าที่ควร และไม่รู้ว่าจะเป็นการมองศักยภาพผู้จัดเกินไปด้วยหรือเปล่าหากสามารถจัดระยะฮาล์ฟได้จะเป็นการดี และเชื่อว่าหากทุกคน ทุกองค์กรในชุมชนแห่งนี้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เข้มแข็งเช่นนี้ คลองคูณมินิมาราธอน หรือจะเป็นคลองคูณมินิ-ฮาล์ฟมาราธอนประสพความสำเร็จแน่นอน

7.8.49

แม่เมาะ มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 15

แม่เมาะ มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 15
วันที่ 6 สิงหาคม 2549
ณ โรงเรียนแม่เมาะวิทยา อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
สรุปผลการประเมิน TRES: 87 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: สำหรับสนามนี้ มี 3 ระยะให้เลือก ได้แก่ 5 กม. 10.5 กม. และ 21 กม. ทั้ง 3 ระยะมีเส้นทางต่างกันออกไป โดยที่ระยะ 5 กม. และ 10.5 มีจุดปล่อยตัวและเส้นชัยอยู่บริเวณหน้าโรงเรียนแม่เมาะวิทยา เส้นทางวิ่งไป-กลับเข้าเส้นชัย เส้นทางการวิ่งเป็นถนนลาดยาง ในระยะ 10.5 มีเนินชันวิ่งขึ้นลงเนินเป็นว่าเล่น ถือว่าเป็นเส้นทางที่สวยงาม ท้าทายนักวิ่งเป็นอย่างมาก

สำหรับระยะฮาล์ฟมาราธอน หรือ 21 กม. เส้นทางคล้ายกันกับระยะ 10.5 กม. ต่างกันเพียงจุดปล่อยตัว
โดยปล่อยตัวจากศาลาจุดชมวิวลงมาแล้วมาเข้าสู่เส้นชัยบริเวณหน้าโรงเรียนแม่เมาะวิทยาเช่นกัน การปล่อยตัวสำหรับระยะฮาล์ฟมาราธอนเช่นนี้ช่วยทำให้นักวิ่งไม่เบื่อเส้นทาง ได้เห็นธรรมชาติอันสวยงามได้เป็นอย่างดี และนอกจากนั้นการนำนักวิ่งไปปล่อยอีกจุดแล้วให้วิ่งกลับมาสู่เส้นชัย ก็เป็นการช่วยกระตุ้นให้นักวิ่งมีความพยายามที่จะไปให้ถึงเส้นชัยให้ได้

ส่วนเรื่องการจัดการระหว่างเส้นทางการแข่งขัน ทุกระยะมีการปิดเส้นทางให้นักวิ่งได้อย่างปลอดภัย มีน้ำบริการไม่ขาดทุก 2.5 กม. มีป้ายบอกระยะที่ชัดเจนนอกจากนั้นยังมีป้ายโฆษณางานแม่เมาะแขวนเป็นระยะซึ่งทำให้ผู้ที่ผ่านไปมาและคนในชุมชนสังเกตเห็นและรับรู้กิจกรรมที่จัดขึ้น นอกจากนั้นนักวิ่งที่ต้องการเก็บภาพประทับใจระหว่างเส้นทางก็ทำให้รู้ได้ว่าเป็นงานวิ่งงานใด ถือได้ว่าเป็นเส้นทางการแข่งขันที่ถูกจัดเตรียมได้ดีมากๆทีเดียว

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สนามแม่เมาะถือว่าเป็นสนามที่มีลักษณะของเส้นทางการแข่งขันที่ค่อนข้างโหดเอาการทีเดียวสำหรับระยะมินิ และ ฮาล์ฟมาราธอน เนื่องจากมีเนินสูงชันเยอะพอสมควร เรียกว่าได้นักวิ่งได้ออกแรงกันเต็มที่ แต่ถึงแม้เส้นทางจะดูโหดแต่ด้วยสภาพบรรยากาศที่สดชื่น เป็นธรรมชาติ สำหรับนักวิ่งที่ชอบความเป็นธรรมชาติสนามนี้เป็นสนามที่น่าวิ่งมากๆ แต่ว่าตัวนักวิ่งเองก็ต้องฝึกซ้อมเพื่อเตรียมรับกับการวิ่งขึ้น-ลงเขามาบ้างพอสมควร และในสภาพอากาศและฤดูกาลที่แปรปรวนในปัจจุบัน การวิ่งบนไหล่ถนน ริมไหล่ทางจึงไม่ค่อยมีร่มเงาไม้มากนัก ดังนั้นนักวิ่งที่กลัวแดด แพ้แดดก็ควรเตรียมหมวกหรือครีมกันแดดไปด้วยก็เป็นการดีสำหรับสนามนี้

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: สนามนี้ถือว่าผู้จัดอย่าง กฟผ. เป็นชื่อการันตีคุณภาพการจัดงานได้เป็นอย่างดีเกือบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเทคนิค และด้านการเสริมสร้าง จรรโลง และพัฒนาสังคม รวมไปถึงการส่งเสริมเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมดีๆเช่นนี้ และอีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้ผู้จัดช่วยหาแนวทาง หรือว่าช่วยกันกระตุ้นให้นักวิ่งมีจิตสำนึกช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม รักความสะอาดของสถานที่จัดการแข่งขัน แต่จากการร่วมงานในครั้งนี้ก็พอจะเห็นและสัมผัสได้ ว่าผู้จัดเองก็มีความตระหนักในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ภาพบางภาพที่ออกมา เศษขยะ แก้วน้ำ ที่ถูกทิ้งเกลื่อน ทั้งๆที่มีถังขยะจัดเตรียมไว้ให้เป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักวิ่งจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ยังคงทำนิสัยมักง่ายไม่สนใจใยดี งานวิ่งที่มีคุณภาพอย่างแม่เมาะมินิ-ฮาล์ฟ ผู้ที่เข้าร่วมงานก็ควรมีคุณภาพด้วยเช่นกัน ดังนั้นจะเป็นการดีหากผู้ใจมีมาตรการหรือแนวทางที่จะเป็นการกระตุ้นให้นักวิ่งตระหนักในเรื่องของการรักษ์สิ่งแวดล้อมของสถานที่การจัดงานด้วยเช่นกัน

12.7.49

50 ปี รพ.พระพุทธบาทมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ประเพณีตักบาตรดอกไม้

50 ปี รพ.พระพุทธบาทมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ประเพณีตักบาตรดอกไม้
วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2549 วันเข้าพรรษา
ณ ซุ้มประตูทางเข้าวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี
สรุปผลการประเมิน TRES: 90 คะแนน (งานแรกที่ทำได้ถึง 90 คะแนน)

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: สำหรับสนามนี้ มี 3 ระยะให้เลือก ได้แก่ 3 กม. 10.5 กม. และ 21 กม. ทั้ง 3 ระยะปล่อยตัวออกจากบริเวณซุ้มประตูทางเข้าวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร วิ่งเข้าไปด้านในผ่านวัดพระพุทธบาท สำหรับระยะฮาล์ฟมาราธอน หรือ 21 กม. วิ่งไปเรื่อยๆตามถนนในหมู่บ้าน อ.พระพุทธบาท ไปเรื่อยๆจนถึงคลองชลประทานเลี้ยวขวาวิ่งเรียบคลองชลประทานไป 3 กม. ผ่านจุดกลับตัว แล้วย้อนกลับเส้นทางเดิม เส้นทางโดยส่วนใหญ่เป็นทางเรียบลาดยาง เส้นทางระหว่างการแข่งขันมีเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและอาสาสมัครคอยดูแลตลอดเส้นทาง แม้ว่าฝนจะตกแต่จุดให้น้ำมีบริการน้ำเย็นทุก 2.5 กม.ไม่มีขาด มีรถพยาบาลคอยดูแลนักวิ่ง มีป้ายบอกระยะทุกๆ 1 กม. เส้นทางการแข่งขันในวันนี้ถือว่าอากาศดีมากเนื่องจากมีฝนตกลงมาทำให้อากาศไม่ร้อน แต่นักวิ่งอาจลำบากหน่อยเพราะรองเท้าพอเปียกแล้วทำให้วิ่งไม่สะดวกนัก

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สนามนี้เป็นสนามวิ่งที่นักวิ่งไม่ควรพลาด เป็นงานวิ่งที่จัดวิ่งในวันเข้าพรรรษา หนึ่งปีมีวันเดียว ถือว่าเป็นสนามวิ่งที่เหมาะกับนักวิ่งเป็นอย่างมากที่จะใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่าจริงๆ ได้ไปวิ่งออกกำลังกาย ได้ทำบุญ ได้พักผ่อน ได้ท่องเที่ยว และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันสืบสานประเพณีอันดีงามทางพุทธศาสนา และนอกจากนั้นสถานที่การจัดงานก็เดินทางสะดวกมากๆ ไม่ไกลจากกรุงเทพมากนักใช้เวลาเพียงแค่ ชั่วโมงหรือ 2 ชั่วโมงเท่านั้นเอง มากไปกว่านั้นการจัดงานการต้อนรับของผู้จัดงานในครั้งนี้เรียกว่าเป็นไปอย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงรับรองนักวิ่ง หรือแม้แต่ที่พัก เรียกว่าเอาใจเค้ามาใส่ใจเราจริงๆ

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: เป็นการจัดงานครั้งแรกหรือเปล่าไม่แน่ใจแม้จะเป็นการจัดกันเอง แต่การจัดงานออกมาเรียกว่ายอดเยี่ยมมาก ไม่ใช่เพียงแค่มีอาหารเหลือเฟือเหมือนเป็นงานเลี้ยง แต่เป็นการเอาใจใส่ในทุกๆเรื่องของนักวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางที่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล มีกองเชียร์มาให้กำลังใจนักวิ่งท่ามกลางสายฝน และสนุกครื้นเครงจนกระทั่งนักวิ่งคนสุดท้ายเข้าสู่เส้นชัย เป็นงานวิ่งที่หน่วยงานต่างๆในท้องถิ่นและคนในชุมชนให้ความร่วมมือกันอย่างขันแข็ง ค่าสมัครฟรี สำหรับนักเรียน และ ค่าสมัครสำหรับครอบครัว 500 บาท ถือว่าเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนเริ่มออกกำลังกายได้มากขึ้น ถังขยะเกือบร้อยในบริเวณงาน มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล คอยเก็บและเททิ้งตลอด เป็นการตระหนักถึงภาพลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

งานนี้ถือว่าเป็นงานวิ่งที่จัดได้ดีมากและมีความเหมาะสมเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้ว ยังเชื่อว่าวัตถุประสงค์ทั้ง 3 ข้อของงานนี้บรรลุผลไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่หากมีจัดเป็นการต่อเนื่องทุกๆปี เชื่อว่างานวิ่งดีๆเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างมาก ประชาชนและคนในชุมชนจะมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ประเพณีตักบาตรดอกไม้จะถูกสืบทอดต่อไป เป็นประเพณีที่คนไทยรู้จักกันมากยิ่งขึ้น

สุดท้ายคงต้องบอกว่า งานนี้เป็นงานที่มีคุณภาพจริงๆ ไม่ใช่แค่การจัดวิ่ง ไม่ได้จัดเพื่อนักวิ่งเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการจัดงานเพื่อทุกคนที่เข้าไปร่วมงาน ทุกคนมีส่วนร่วม ทุกคนที่ได้ไปร่วมงานจะรู้สึกมีความสุข ปีนี้ใครพลาด ปีหน้าก็อย่าพลาด ปีนี้ใครที่ได้ไปสัมผัสแล้วก็คงต้องกลับไปสัมผัสบรรยากาศกันอีกแน่นอน...

26.6.49

ธัญญารักษ์มินิมาราธอน ครั้งที่ 8

ธัญญารักษ์มินิมาราธอน ครั้งที่ 8
อาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 2549
สถาบันธัญญารักษ์ ถ.วิภาวดีรังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
สรุปผลการประเมิน TRES: 80 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: เส้นทางการแข่งขันสำหรับธัญญารักษ์มินิมาราธอนที่ใช้ในปีนี้ยังคงเป็นเส้นทางเดิม จุดสตาร์ทออกจากหน้าสถาบันธัญญารักษ์แล้วนักวิ่งเลี้ยวซ้ายออกไปวิ่งบนถนนคู่ขนานวิภาวดีรังสิตใต้ทางด่วนโทลเวย์ ระยะ 5 กิโลวิ่งไปกลับตัวที่ 2.5 กม. ส่วน 10 กิโลก็วิ่งไปกลับตัวที่ 5 กม. เส้นทางการแข่งขันวิ่งไป-กลับบนถนนสายหลักแต่เส้นทางการจราจรถูกปิดสนิทสำหรับงานวิ่งปีละครั้งของสถาบันธัญญารักษ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอปพร. ให้การดูแลนักวิ่งตลอดเส้นทางเป็นอย่างดี จุดให้น้ำมีทุกๆ 1 กิโล การเตรียมการของผู้จัดงานเป็นไปอย่างดีมาก เสียแต่ว่าอากาศตามเส้นทางการวิ่งมีแต่ควันท่อไอเสียจากรถที่สัญจรไปมาอย่างหนาแน่น และเส้นชัยที่ถูกจัดขึ้นบนทางคู่ขนานก่อนจะเลี้ยวขวาเข้าสู่สถาบันเพื่อลดปัญหาการจราจรและความปลอดภัยของนักวิ่ง

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สำหรับสนามนี้เป็นสนามที่เหมาะกับนักวิ่งทุกระดับ เป็นทางเรียบตลอดระยะทั้ง 5 และ 10 กิโล เป็นสนามที่สถาบันธัญญารักษ์เป็นผู้จัดเองและสมเป็นสถาบันเพื่อสุขภาพและพยาบาลดังนั้นความปลอดภัยสำหรับนักวิ่งหายห่วง หากแต่ว่านักวิ่งที่แพ้ฝุ่น ควัน ไอเสีย คงต้องคิดหนักหน่อยเพราะเส้นทางการวิ่งแม้จะปิดสนิทให้นักวิ่งก็จริงแต่การจราจรบนถนนเส้นวิภาวดีรังสิตขาเข้าเป็นเส้นที่รถพลุกพล่าน ควัน ไอเสีย มีมากๆ คนที่แพ้ควันท่อไอเสียก็ควรเลี่ยง

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: สำหรับงานวิ่งธัญญารักษ์มินิมาราธอน ถือว่าเป็นงานวิ่งที่เริ่มจะจัดเป็นประจำทุกปีไปแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 ซึ่งถือได้ว่าผู้จัดได้พัฒนา ปรับปรุงการจัดงานขึ้นทุกปี และถือได้ว่าเป็นสนามในกรุงเทพที่น่าวิ่งอีกงานทีเดียว แม้ว่าเส้นทางจะไม่ได้สวยงามหรือมีบรรยากาศดีแต่อย่างใด แต่ด้วยการบริหาร การเตรียมการ ความพร้อม และความตั้งใจของทีมงานธัญญารักษ์ทำให้งานวิ่งธัญญารักษ์เป็นงานวิ่งที่น่าวิ่งสำหรับนักวิ่งทุกๆระดับ และหวังว่าธัญญารักษ์จะรักษาความมีคุณภาพต่อไปและนักวิ่งจะให้การสนับสนุนสนามนี้มากยิ่งขึ้นไป และสิ่งหนึ่งที่อยากฝากผู้จัดเอาไว้คือ การสนับสนุนให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกำลังกาย เพราะจะเห็นได้ว่า นักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ มีจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้ หากเป็นไปได้การส่งเสริมเยาวชนด้วยการลดค่าใช้จ่ายการสมัครบางส่วนสำหรับเยาวชนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ดี เพื่อรณรงค์ให้เยาวชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากยิ่งขึ้น

19.6.49

ภูเก็ตนานาชาติมาราธอน ครั้งที่ 1

ภูเก็ตนานาชาติมาราธอน ครั้งที่ 1
อาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน 2549
ณ ลากูน่า รีสอร์ท จ.ภูเก็ต
สรุปผลการประเมิน TRES: 83 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: สำหรับเส้นทางการแข่งขันภูเก็ตนานาชาติมาราธอน ครั้งที่ 1 นี้ เส้นทางประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นถนนราดยาง จะมีบางส่วนที่เป็นถนนลูกรังและคอนกรีต เส้นทางเป็นทางเรียบบวกเนินประมาณ 4-5 ลูก ที่พอจะตัดกำลังนักวิ่งได้ไม่น้อยทีเดียว การแข่งขันระยะมาราธอนเริ่มจากจุดปล่อยตัวลากูน่า วิ่งขึ้นไปทางทิศเหนือไปถึงอุทยานแห่งชาติสิรินาถวิ่งเรียบหาดไนยาง 2 กิโล แล้วย้อมกลับลงมาเส้นทางเดิม พอมาถึงกิโลที่ 35 วิ่งอ้อมเข้าไปหาดลายัน แล้ววิ่งเรียบหาดลงมาเรื่อยๆเพื่อกลับเข้าสู่เส้นชัยที่ลากูน่า เส้นทางการวิ่งบรรยากาศดีเป็นธรรมชาติสมเป็นเมืองท่องเที่ยว มีทั้งสวนยาง สวนผลไม้ ตลอดเส้นทางการแข่งขัน แม้ว่าอากาศจะร้อนบ้างแต่เกือบตลอดทางก็มีเงาไม้ให้หลบแดด ระหว่างเส้นทางการแข่งขันมีป้ายบอกระยะทุกๆ 1 กิโลเมตร และจุดให้น้ำทุกๆ 2.5 กิโลเมตร น้ำไม่ขาดส่วนในช่วงหลังๆ ผู้จัดมีน้ำให้เกือบทุกๆ 1 กิโลและดูแลจนนักวิ่งคนสุดท้ายเข้าสู่เส้นชัย

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สำหรับสนามนี้เป็นสนามที่ไม่ยากนักสำหรับนักวิ่งที่ผ่านมาราธอนมาบ้างแล้ว แต่สำหรับฝีเท้าใหม่ที่ลงมาราธอนในระยะแรกควรฝึกซ้อมการขึ้นและลงเนินมาบ้างพอสมควร ความยากของสนามนี้ไม่เหมาะที่จะใช้ลงเป็นมาราธอนแรก แต่หากคุณคิดว่าคุณพร้อมและซ้อมมาดีพอสนามนี้ก็ไม่ยากนัก และเส้นทางก็ไม่น่าเบื่อ มีทั้งเป็นเขา เนิน ชายหาด และสิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำสำหรับนักวิ่งไทย เนื่องจากสนามนี้จัดในส่วนของพื้นที่เอกชนบวกกับความเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับสนามนี้ค่อนข้างสูงพอดู ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทาง ที่พักและอื่นๆ ดังนั้นนักวิ่งที่สนใจสนามนี้คงต้องยอมรับกับสนนราคาค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น แนวทางการประหยัดค่าใช้จ่ายบางส่วนสำหรับสนามนี้ คือการเดินทางร่วมกันเป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็ก หรือกลุ่มใหญ่ แล้วเหมารถตู้ตลอดทริปการเดินทางจะช่วยให้นักวิ่งประหยัดได้มากทีเดียว

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: มาราธอนสนามนี้ปล่อยตัวเวลา 05.00 น. ถือว่าเป็นการปล่อยตัวที่ค่อนข้างสายสำหรับมาราธอนเมืองไทย แต่ว่าเพื่อให้นักวิ่งได้สัมผัสกับบรรยากาศเมืองภูเก็ตมายิ่งขึ้นการปล่อยตัว 05.00 น. สำหรับสนามนี้ก็ถือว่ายอมรับได้ แต่ผู้จัดคงต้องระมัดระวังเรื่องจุดให้น้ำเป็นพิเศษ และสำหรับการจัดครั้งแรกสำหรับสนามภูเก็ตนานาชาติมาราธอน ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีมากของสนามนี้ จุดให้น้ำมีน้ำเพียงพอ มีเครื่องดื่มเกเตอเรทและผลไม้บ้าง หากยังคงรักษาคุณภาพไว้ได้เช่นนี้ มาราธอนนานาชาติสนามนี้จะเรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวนอกภูมิภาคเอเชียได้อีกไม่น้อยทีเดียว และขอเป็นกำลังใจให้ผู้จัดได้มีกำลัง แรงใจในการจัดสนามภูเก็ตนานาชาติมาราธอนครั้งที่ 2 และครั้งต่อๆไป

12.6.49

ลานสกามาราธอน 2549

ลานสกามาราธอน 2549
ณ อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช
อาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน 2549
สรุปผลการประเมิน TRES: 80 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: ลานสกามาราธอนครั้งนี้เป็นการจัดขึ้นครั้งที่ 2 จากครั้งแรกได้คะแนนการประเมินไปเพียง 76 คะแนน ครั้งนี้ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงได้คะแนนเพิ่มขึ้นมาถึง 80 คะแนน ตอนนี้ลานสกามาราธอนเป็นสนามมาราธอนอีกสนามที่นักวิ่งน่าไปวิ่งมาก เส้นทางการแข่งขันทั้ง 10 กม. และ 42 กม. เรียกว่าเป็นเส้นทางเดิมที่ปล่อยตัวออกจากที่ว่าการอ.ลานสกา วิ่งออกไปทาง อ.ร่อนพิบูลย์ และกลับตัวที่สามแยกบ้านศาลาแขกหลัก กม.ที่ 19 เป็นเส้นทางที่สวยงามและท้าทาย เส้นทางเป็นเขาให้วิ่งข้ามกันเป็นลูกๆ เนินพัทยาต้องเรียกว่าเด็กๆ... แต่ถึงแม้จะต้องวิ่งข้ามเขาโดยเฉพาะเขาช้างสี ลานสกามาราธอนก็ยังเป็นมาราธอนที่ดูจะไม่โหดร้ายเท่าพัทยามาราธอนอยู่ดี สนามนี้ก็ยังคงต้องยืนยันว่าเป็นสนามที่เอาสนามพัทยามารวมกับบรรยากาศจอมบึง และหากนักวิ่งอยากรู้ว่าพัทยาบวกกับจอมบึงจะออกมาสภาพไหนคงต้องไปสัมผัสกันสักครั้งแล้วจะติดใจ

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สนามนี้คงไม่มีคำแนะนำอะไรเพิ่มเติมจากครั้งที่แล้วเพราะเส้นทางและการจัดงานยังคงคุณภาพดีๆเหมือนที่ผ่านมา อยากแนะนำเพียงว่าสนามมาราธอนนี้เป็นสนามที่นักวิ่ง หรือมนุษย์มาราธอนทั้งหลายควรมาสัมผัสกันสักครั้ง เป็นสนามที่เพรียบพร้อมด้วยบรรยากาศของการพักผ่อน น้ำใจงามๆ กำลังใจดีๆ มากมายก่ายกอง จากพ่อแม่พี่น้อง ชาวบ้านในชุมชน หากนักวิ่งท่านใดสนใจจะลองลงมาราธอนที่ท้าทายมากๆ สักครั้งในชีวิต เรียกว่า สนามนี้ก็เป็นสนามที่ท้าทายไม่ใช่เล่น แต่หากผึกซ้อมวิ่งขี้น-ลงเขากันมาบ้างก็จะดี

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: เป็นการจัดวิ่งมาราธอนเป็นครั้งที่สอง จุดบกพร่องจากการจัดงานในครั้งแรกได้ถูกปรับปรุงแก้ไขได้ดีมากขึ้น หากผู้จัดยังคงรักษามาตรฐานและคุณภาพดีอย่างนี้ไว้ได้ต่อไป รับรองว่า ลานสกามาราธอน ก็คงเป็นอีกมาราธอนที่นักวิ่งจะให้ความนิยมไม่น้อยกว่าจอมบึงมาราธอนเลยทีเดียว และหากมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆมากยิ่งขึ้น น่าจะเป็นมาราธอนระดับประเทศได้อีกสนามแต่ผู้จัดคงต้องใช้เวลาเป็นการพิสูจน์รวมทั้งการสนับสนุนจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมากยิ่งขึ้น ก็ขอเป็นกำลังให้ผู้จัดลานสกามาราธอนมีแรงมีกำลังใจต่อไป

4.6.49

เขื่อนคลองท่าด่านมาราธอน ครั้งที่ 1

เขื่อนคลองท่าด่านมาราธอน ครั้งที่ 1
อาทิตย์ ที่ 4 มิถุนายน 2549
ณ เขื่อนคลองท่าด่าน จ.นครนายก
สรุปผลการประเมิน TRES: 70 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: เส้นทางการแข่งขันระยะมาราธอน 42.195 ของเขื่อนคลองท่าด่านมาราธอน ครั้งที่ 1 ได้เริ่มขึ้น ณ บริเวณวงเวียนหน้าสันเขื่อนฯ แล้ววิ่งออกมาสู่ถนนนครนายก-นางรอง ผ่านสี่แยกประชาเกษม เข้าสู่หมู่บ้านขาม ผ่านวัดบุหย่อง วัดเขาทุเรียน วัดกุดตะเคียน วัดเขาน้อย และกลับเข้าสู่เส้นชัย ณ จุดสตาร์ทอีกครั้ง เส้นทางการแข่งขันในครั้งนี้ถือว่าเป็นเส้นทางที่สวยงามมากทีเดียว บรรยากาศของธรรมชาติท้องทุ่งนา ขุนเขา อากาศก็สดชื่นไม่ร้อนมากนัก มีฝนพรำลงมาในบางจุด เส้นทางวิ่งก็ไม่ยากจนเกินไปนัก เพราะเส้นทางโดยส่วนใหญ่เป็นทางเรียบ มีเนินบ้างเล็กน้อยซึ่งไม่สูงชันมากนัก ดังนั้นนักวิ่งมาราธอนหน้าใหม่หรือผู้ที่สนใจจะลงมาราธอนเป็นครั้งแรกสนามนี้ก็ไม่เลวทีเดียว เหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบการใช้เวลาบนเส้นทางการวิ่งนานๆ

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สำหรับสนามนี้เชื่อว่าหากนักวิ่งที่สนใจจะลงมาราธอนและฝึกซ้อมมาบ้าง สนามนี้ก็ไม่ยากที่จะผ่านเข้าสู่เส้นชัย นอกจากนั้นสนามนี้ยังเป็นสนามที่มีแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงมากมาย หากวิ่งเสร็จแล้วนักวิ่งยังสามารถอยู่เที่ยวต่อกันได้ ก็ถือว่าเป็นการใช้วันหยุดเพื่อการพักผ่อนได้สุดคุ้มทีเดียว

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: สำหรับสนามนี้อยากบอกว่าเส้นทางการแข่งขันและสถานที่การจัดงานถือว่าเป็นมนต์เสน่ห์ที่เรียกจะนักวิ่งได้ไม่น้อยทีเดียวในอนาคต แม้ว่าเส้นทางการวิ่งจะสวยงาม บรรยากาศจะดีเพียงไหน แต่หากผู้จัดยังคงละเลยไม่เห็นความสำคัญในสิ่งที่จำเป็นสำหรับนักวิ่ง อาทิเช่น น้ำ ห้องน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ผลการประเมินมีคะแนนออกมาไม่ดีสักเท่าไหร่นัก ครั้งนี้เป็นการจัดครั้งแรก ก็หวังว่าการจัดการแข่งขันในครั้งต่อๆไป ผู้จัดคงมีการพัฒนาและปรับปรุงในจุดบกพร่องที่ผ่านมาในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำที่บริการตามจุดให้น้ำ น้ำและน้ำแข็งหลังจากนักวิ่งเข้าสู่เส้นชัยซึ่งนักวิ่งต้องการเอาไว้คูลดาวน์ ห้องน้ำบริการซึ่งหาเข้าลำบาก และนอกจากนั้นยังรวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ที่เร่งด่วนเกินไป สำหรับการวิ่งระยะมาราธอนแล้วการประชาสัมพันธ์ในระยะเวลาสั้นๆ นักวิ่งไม่ทันได้เตรียมตัวหรือฟิตซ้อมร่างกาย ซึ่งจะส่งผลทำให้นักวิ่งเข้าร่วมงานการแข่งขันในระยะนี้ไม่มากนัก และเนื่องจากบริเวณการแข่งขันยังมีการก่อสร้างซึ่งยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดีนัก ทำให้การจัดงานและการเตรียมการอาจจะขลุกขลัก ลุ่มๆดอนๆไปบ้าง หากการก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ก็หวังว่าหลายๆปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะบรรเทาลงไปได้บ้าง
สุดท้าย ในอนาคตเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้คงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของ จ.นครนายก ดังนั้นการจัดกิจกรรมต่างในพื้นที่แห่งนี้ควรคำนึงและตระหนักถึงการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงขยะที่จะเกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมต่างๆ ณ ปัจจุบันตามเส้นทางการแข่งขันจะพบว่าค่อนข้างหาถังขยะยากพอสมควร ดังนั้นเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสถานที่แห่งนี้ ทางผู้จัดและสำนักงานจังหวัดควรมีนโยบายหรือแผนงานรองรับตรงจุดนี้ด้วยเช่นกัน และหวังว่าในอนาคต มาราธอนสนามนี้ซึ่งเป็นเส้นทางธรรมชาติบวกกับการจัดงานที่พัฒนาและปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องจากครั้งนี้ จะส่งผลให้เขื่อนคลองท่าด่านมาราธอนเป็นสนามมาราธอนที่นักวิ่งสนใจเข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้น

28.5.49

ฉลองครองราชย์ฯ 60 ปี อัลตร้ามาราธอน 60K

ฉลองครองราชย์ฯ 60 ปี อัลตร้ามาราธอน 60K
อาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม 2549ณ หอศิลป์สยาม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
สรุปผลการประเมิน TRES: 70 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: การวิ่งฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี อัลตร้ามาราธอน 60K ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการแข่งขันเป็นหลัก หากแต่เป็นการวิ่งเพื่อเทิดพระเกียรติและฉลองการครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงของเรา เส้นทางการแข่งขันสำหรับการวิ่ง 60 กิโลเมตรครั้งนี้เป็นเส้นการวิ่งบนไหล่ทางจากบริเวณหน้าหอศิลป์สยาม ตรงข้ามหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิ่งออกไปทาง อ.สะเดา เป็นการวิ่งไปกลับเส้นทางเดิม ไป 30 กิโลและกลับมาอีก 30 กิโล เส้นทางการวิ่งมีทั้งทางเรียบสลับกับเนินที่ไม่สูงมาก การวิ่งครั้งนี้ปล่อยตัวเวลา 00.01 น. มีข้อดีคือนักวิ่งไม่ร้อน แต่ก็มีข้อเสียตรงที่เส้นทางค่อนข้างมืด นักวิ่งมองไม่ค่อยเห็นบรรยากาศและทิวทัศน์ของเส้นทางมากนักหรือแม้แต่จะเห็นนักวิ่งด้วยกันเอง จุดให้น้ำและป้ายบอกระยะทางผู้จัดเตรียมการไว้อย่างดี และมีทีมจักรยานคอยดูแลนักวิ่งเป็นช่วงๆ เที่ยวขากลับหลังจาก 06.30 น. การจราจรเริ่มขวักไขว่ การวิ่งบนไหล่ทางทำให้นักวิ่งวิ่งลำบาก ต้องคอยระมัดระวังรถที่ขับไปมาบนถนนมากขึ้น

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: การวิ่งในครั้งนี้เป็นการวิ่งที่มีระยะมากกว่า 42.195 หรือระยะมาราธอนโดยทั่วไป นักวิ่งควรมีการเตรียมตัวดังนี้
การเตรียมตัวและเตรียมใจให้พร้อมสำหรับการวิ่งระยะอัลตร้ามาราธอน ควรมีการฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี และผ่านการวิ่งระยะมาราธอนมาบ้าง ในการฝึกซ้อมระยะมาราธอน 42.195 ควรวิ่งให้ได้ตลอดระยะมาราธอน ซึ่งจะช่วยให้นักวิ่งไม่ทรมานมากนัก หากไม่สามารถวิ่งยืนระยะยาวได้ครบ 42.195 ระยะทางที่ต้องไปต่ออีกเกือบ 20 กิโล จะเป็นระยะที่ทรมานมากๆ มันจะทำให้นักวิ่งท้อและไม่จบการแข่งขันได้ง่ายๆ
เตรียมอุปกรณ์สำหรับการวิ่งที่มีการปล่อยตัวตอนกลางคืนควรมีการเตรียมไฟฉายหรือไฟกระพริบติดตัวไปด้วยก็จะเป็นการดีเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนั้นควรใส่เสื้อผ้าที่สว่างหรือมีบางส่วนเป็นแถบสะท้อนแสง

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: การจัดในครั้งนี้ถือว่าเป็นการจัดขึ้นเพียงครั้งเดียว ไม่ได้จัดเป็นงานวิ่งประเพณีหรือประจำทุกปี ดังนั้นบางครั้งผู้จัดจึงไม่ได้ตระหนักในเรื่องความสวยงามของเส้นทางการวิ่งมากนัก หากแต่อาศัยความสะดวกในการจัดเป็นหลัก แม้จะเป็นการจัดงานวิ่งเฉพาะกิจเช่นนี้ก็อยากให้ผู้จัดได้หาเส้นทางที่ดีกว่าหรือสวยงามกว่านี้ได้ก็จะเป็นการดี นอกจากนั้นการวิ่งระยะทางไกลๆ การให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมมากยิ่งขึ้นก็จะดีไม่น้อยทีเดียว หรือมีกองเชียร์บ้างก็จะทำให้นักวิ่งไม่เหงา วิ่งระยะทางไกลถึง 60 กิโลนักวิ่งก็เบื่อเหมือนกัน และภาพในการเตรียมการโดยรวมสำหรับงานนี้ก็ถือว่าใช้ได้

21.5.49

ทัพฟ้ามินิ-ฮาล์ฟมาราธอน เฉลิมพระเกียรติ

ทัพฟ้ามินิ-ฮาล์ฟมาราธอน เฉลิมพระเกียรติ
อาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2549
ณ กองบัญชาการกองทัพอากาศ ดอนเมือง กรุงเทพฯ
สรุปผลการประเมิน TRES: 75 คะแนน จัดได้ดี

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: สำหรับเส้นทางการวิ่งมี 3 ระยะให้เลือก คือ 5กม. 12 กม. และ 21 กม. เส้นทางการวิ่ง วิ่งภายในเขตบริเวณภายในกองทัพอากาศ เรียบสนามบินและบริเวณลานบิน เส้นทางเป็นทางเรียบลาดยางและพื้นซีเมนต์(ลานบิน) ไม่มีเนิน ทั้ง 3 ระยะจากจุดปล่อยวิ่งวนเข้าสู่เส้นชัย เส้นทางการวิ่งของทหารอากาศมินิมาราธอนเป็นเส้นทางที่หาวิ่งได้ยากมากอีกสนาม นอกจากจะมีเครื่องบินจอดเรียงรายตามเส้นทางการวิ่งให้ได้เห็นกันชัดๆ บรรยากาศที่เครื่องบินกำลังขึ้นและลงใกล้ๆ ซึ่งคิดว่าไม่มีสนามไหนให้นักวิ่งได้สัมผัส ได้เห็นกันขนาดนี้แน่นอนสำหรับการวิ่งในประเทศไทย และคงเป็นสนามฮาล์ฟมาราธอนสนามเดียวที่วิ่งได้รอบเดียวจบและปลอดภัยจากรถที่สัญจรไปมาในเมืองกรุง ป้ายบอกระยะตามเส้นทางการวิ่งมีให้เห็นชัดเจน แต่ก็จะมีนักวิ่งระยะสั้นบางท่านไม่ทันสังเกตป้ายวิ่งเลยจุดที่ต้องเลี้ยวตามเส้นทางวิ่งระยะยาว ดังนั้นเส้นทางการวิ่งที่ทับเส้นนักวิ่งควรสังเกตให้ดี ส่วนจุดให้น้ำระหว่างเส้นทางการแข่งขันมีบางจุดที่น้ำไม่เพียงพอ หรืออุปกรณ์ให้น้ำนักวิ่งไม่เพียงพอ หากว่าวันนั้นอากาศร้อนเหมือนที่ผ่านมา นักวิ่งก็คงไม่สบอารมณ์เท่าไหร่ โชคดีที่มีฝนพรมลงมาให้ชุ่มฉ่ำลดอารมณ์ร้อนไปได้บ้าง...

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สนามนี้ถูกจัดให้เหมาะกับนักวิ่งทุกระดับ เพราะมีให้เลือกถึง 3 ระยะเลยทีเดียว นอกจากจะมีถึง 3 ระยะให้เลือกแล้วการเดินทางไปวิ่งสนามนี้ก็ไม่ลำบากเพราะอยู่ใจกลางกรุงเทพ และเนื่องจากผู้จัดได้จัดเป็นประจำทุกปีในช่วงนี้เดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นหน้าร้อน แต่ปีนี้อากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนไม่ร้อนเหมือนปีที่ผ่านๆมา ทำให้นักวิ่งหลายคนตัดสินใจลงวิ่งระยะยาวกันมากขึ้น และเป็นสนามวิ่งในกรุงเทพที่เชื่อได้ว่าระหว่างเส้นทางการวิ่งนักวิ่งมีความปลอดภัยสูงมากทีเดียว... สำหรับนักวิ่งในกรุงเทพสนามนี้เป็นอีกทางเลือกที่หากมีโอกาสควรมาสัมผัส

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: สำหรับการจัดงานปีนี้ก็ถือว่าดี สภาพการจัดงานบอกให้เห็นได้ว่ามีการจัดการและเตรียมการที่ดี เส้นทางการวิ่งก็เป็นเอกลักษณ์สำหรับสนามนี้ได้ดีอยู่แล้ว และถือว่าเป็นสนามที่มีการพัฒนาจากปีที่แล้วเป็นอย่างมาก อาทิ การเพิ่มระยะฮาล์ฟมาราธอนเพิ่มขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการนักวิ่งระยะยาวที่มีมากขึ้น เป็นแนวทางในการสร้างและฝึกฝนนักวิ่งมาราธอนในอนาคต แม้ว่าจะมีการพัฒนาได้ดี แต่ก็ยังมีจุดบกพร่องตามมาบ้างพอสมควรในเรื่องของจุดให้น้ำระหว่างเส้นทางการแข่งขันและหลังการแข่งขัน ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากจำนวนนักวิ่งที่เพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาทำให้ปริมาณน้ำที่คาดการ์ณไว้ไม่เพียงพอ รวมไปถึงอาหารหลังเส้นชัยด้วยเช่นกัน... แต่ผู้จัดก็พยายามที่จะจัดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี พยายามที่จะจัดหาน้ำมาเพิ่ม และอย่างน้อยก็มีข้าวต้มให้นักวิ่งคนสุดท้ายได้ทาน

ถึงแม้การจัดงานในครั้งนี้จะได้คะแนนไม่สูงเหมือนครั้งที่ผ่านมาด้วยข้อบกพร่องที่กล่าวมาข้างต้น แต่ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ของเส้นทางวิ่ง การดูแลเรื่องความปลอดภัย รวมไปถึงความตั้งใจของผู้จัด เชื่อได้ว่าการจัดงานในครั้งต่อไปนักวิ่งจะมากยิ่งขึ้นกว่านี้แน่นอน และขอให้ผู้จัดเตรียมการต้อนรับนักวิ่งที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย... รวมทั้งระยะวิ่งที่ยาวมากขึ้นนักวิ่งที่ลงระยะนี้ใช้เวลาในการวิ่งที่นานกว่าระยะอื่นๆดังนั้น ควรคำนึงถึงและเตรียมการสำหรับนักวิ่งระยะยาวให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ปล. สิ่งที่ขาดหายไปจากวันก่อนมาวันนี้นั่นคือ ถังขยะระหว่างเส้นทางการแข่งขัน ผู้จัดอาจจะเห็นว่าไม่ใช่สิ่งสำคัญ กอรปกับนักวิ่งมากมายถังขยะคงดูไม่มีประโยชน์ แต่ก่อนเข้าสู่เส้นชัยบริเวณลานบินทางด้านซ้ายเราจะเห็นคำว่า PREVENT FOD KEEP THIS AREA CLEAN … ฝากไว้ให้คิดละกัน...

14.5.49

ไทย-ลาว (หนองคาย) มาราธอน

ไทย-ลาว (หนองคาย) มาราธอน
อาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2549
ณ อนุเสาวรีย์ปราบฮ่อ จ.หนองคาย
สรุปผลการประเมิน TRES: 75 คะแนน ใช้ได้ เกือบดี

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: หนองคายมาราธอนปีนี้ปล่อยตัวเวลา 04.00 น. เส้นทางการแข่งขันสำหรับมาราธอนออกสตาร์ทจากอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ เลี้ยวไปเชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว วิ่งย้อนกลับมาผ่านหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองบคาย เลี้ยงขวามาทางอุดรฯ กลับตัว กม. ที่15 แล้วย้อนกลับเข้าตัวเมืองหนองคาย เส้นทางการแข่งขันโดยส่วนใหญ่วิ่งบนไหล่ถนนลาดยางมีเนินสลับกับทางเรียบ การควบคุมการจราจรค่อนข้างดี ตามไหล่ทางก็ไม่มีเงาร่มไม้ให้หลบงานนี้ระยะมาราธอนก็วิ่งตากแดดเป็นเนื้อแดดเดียวกันไป ระหว่างเส้นทางการแข่งขันจุดให้น้ำมีบริการน้ำเย็นตลอด น้ำไม่มีขาด ส่วนที่ขาดก็คงจะเป็นป้ายบอกระยะที่บอกระยะขาดไปนิดหน่อยๆในช่วงต้นๆ เลยส่งผลให้ 1 กิโลสุดท้ายที่จะเข้าเส้นชัย กลายเป็น 2 กิโลกว่าๆเกือบ 3 กิโล

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: งานวิ่งหนองคาย (ไทย-ลาว) มาราธอนในครั้งนี้จัดขึ้นถึง 4 ระยะ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 10 21 และ 42 กม. ดังนั้นนักวิ่งทุกระดับไม่ว่าจะเป็นน้องใหม่หรือผู้เจนสังเวียนสามารถร่วมวิ่งงานนี้ได้ เส้นทางก็ไม่ยากเกินไปนัก แต่หากนักวิ่งท่านใดที่ลงในระยะมาราธอนก็อาจจะต้องทนร้อนกันนิดๆหน่อยๆเท่านั้นเอง

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: งานนี้ภาพโดยรวมจัดได้ดีพอสมควร แต่เป็นที่น่าเสียดายที่นักวิ่งร่วมงานไม่มากนัก เพื่อให้งานวิ่งหนองคายหรือที่ผู้จัดอยากให้เป็นไทย-ลาวมาราธอน ประเด็นหลักที่น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของนักวิ่งที่จะเข้าร่วมงานนี้ นั่นคือเส้นทางการวิ่ง เส้นทางการวิ่งในครั้งนี้ยังเป็นเส้นทางที่ยังไม่เด่นมากนัก เป็นเส้นทางที่วิ่งบนไหล่ถนนในตัวจังหวัดหนองคาย เริ่มต้นและสิ้นสุดในจ.หนองคายไม่ได้ข้ามไปสู่ประเทศลาว ในส่วนของระยะมาราธอนวิ่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแต่ก็ไม่ได้เห็นทัศนียภาพบนสะพานมากนักเพราะยังมืดอยู่ หากเป็นไปได้เพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์และสมชื่อของงานวิ่งไทย-ลาวมาราธอน เส้นทางวิ่งจากหนองคาย (ไทย) สู่ เวียงจันทร์ (ลาว) เหมือนในปี 2546 น่าจะเป็นเส้นทางที่จะได้รับความสนใจและให้การตอบรับจากนักวิ่งมากกว่านี้

การจัดวิ่งข้ามประเทศจะเป็นงานที่มีความยุ่งยาก มีอุปสรรคมากพอสมควร รวมทั้งการจัดงานที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นไทย-ลาวมาราธอนจึงถือว่าเป็นมาราธอนที่ท้าทายทั้งผู้จัดและนักวิ่งไม่น้อยทีเดียว และหากมองถึงอนาคตสำหรับไทย-ลาวมาราธอน ที่สามารถวิ่งข้ามประเทศได้จริง วิ่งครั้งเดียวได้เที่ยวถึง 2 ประเทศเชื่อได้ว่าไม่เพียงนักวิ่งไทยเท่านั้นที่จะสนใจร่วมงานนี้แน่นอน และเพื่อให้ได้การสนับสนุนที่มากยิ่งขึ้นทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ผู้จัดควรมีการวางแผนและประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนี้ งานวิ่งไทย-ลาวมาราธอนไม่จำเป็นที่จัดขึ้นทุกปีก็ได้ แต่ควรที่จะระยะเวลาในการจัดที่แน่นอนว่าจะจัดช่วงไหน เมื่อไหร่ และจะจัดขึ้นทุกๆกี่ปีก็ว่ากันไป

และในการจัดครั้งที่ผ่านมาสำหรับไทย-ลาวมาราธอน (หนองคาย) มาราธอน ก็ถูกประกาศให้นักวิ่งได้ทราบล่วงหน้ากันแทบไม่ถึงเดือน การประชาสัมพันธ์กระชั้นชิดสำหรับการจัดงานวิ่งมาราธอนถือว่าไม่เหมาะสักเท่าใดนัก นักวิ่งในระยะมาราธอนต้องการการฝึกฝนพอสมควร การแจ้งข่าวและประชาสัมพันธ์ในระยะเวลาอันกระชั้นชิดก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้นักวิ่งตัดสินใจไม่เข้าร่วมงานวิ่งนั้นๆเช่นกัน

หลังงานวิ่งจบลงแม้จะไม่มีเสียงบ่นก่นว่าตามหลังมาใช่ว่างานนั้นจะจัดได้ดีเยี่ยม หากแต่ว่างานวิ่งนั้นไม่มีนักวิ่งที่จะมาสะท้อนให้เห็นทำงานของผู้จัดเท่านั้นเอง ดังนั้นงานวิ่งที่มีนักวิ่งมากๆเสียงที่ตามมาย่อมสะท้อนให้ผู้จัดได้รู้ได้เห็นเป็นอย่างดีว่างานที่เราทำลงไปนั้นดีแค่ไหน มีผลตอบรับเป็นอย่างไร และก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการจัดงาน ไทย-ลาวมาราธอน หรือ หนองคายมาราธอน จะได้ยินเสียงตอบรับมากขึ้นกว่านี้ และขอเป็นกำลังใจให้กับผู้จัดที่จะจัดให้สนามนี้เป็นไทย-ลาวมาราธอนสมชื่อในอนาคต

ปล. ไทย-ลาวมาราธอนวิ่งข้ามประเทศ ควรที่จะเป็นอีกหนึ่งมาราธอนที่ได้รับการสนุนให้เป็นมาราธอนนานาชาติได้ ดังนั้นสมควรเป็นอย่างยิ่งที่สนามวิ่งนี้จะได้รับการสนุนให้มากยิ่งขึ้นจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

6.5.49

เดิน-วิ่ง-ปั่น พิทักษ์หัวหิน

เดิน-วิ่ง-ปั่น พิทักษ์หัวหิน
อาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม 2549
ณ อ. หัวหิน จ.ประจวบฯ
สรุปผลการประเมิน TRES: 66 คะแนน

เส้นทางการเดิน-วิ่ง:
จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดการแข่งขันอยู่บริเวณสวนหลวงราชินี (หัวหิน) โดยเส้นทางการแข่งขันระยะมินิ (10.55 กม.) และฮาล์ฟ (25 กม.) จากจุดสตาร์ทก็วิ่งออกสู่ถนนหัวหิน 35 เข้าสู่ถนนเพชรเกษมโดยเลี้ยวขวาวิ่งไปทางทิศเหนือแล้ววิ่งไปตามไหล่ถนนยาวเป็นทางเรียบโดยตลอด วิ่งลอดผ่านอุโมงค์จนไปถึงค่ายนเรศวร ระยะมินิกลับตัวกิโลที่ 5 ก่อนจะถึงค่ายนเรศวร ส่วนระยะฮาล์ฟวิ่งไปถึงค่ายนเรศวรแล้วเลี้ยวเข้าไปวิ่งวนภายในค่ายแล้ววิ่งย้อนกลับเส้นทางเดิม เส้นทางการจัดในครั้งยังไม่มีจุดเด่นมากนักเนื่องจากวิ่งบนไหล่ทางและข้างทางไม่มีร่มไม้ให้นักวิ่งได้หลบแดดดังนั้นนักวิ่งแนวหลังที่วิ่งช้าหน่อยมากกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไปก็อาบแดดกันไปเต็มๆ ตามเส้นทางการแข่งขันมีป้ายบอกระยะชัดเจน แต่สำหรับจุดให้น้ำในช่วงท้ายๆ เที่ยวกลับน้ำมีเพียงน้ำเปล่าเท่านั้นไม่มีน้ำแข็ง บางจุดน้ำหมดก่อนนักวิ่งทั้งหมดเข้าสู่เส้นชัย

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
เนื่องจากการจัดงานวิ่งพิทักษ์หัวหินในครั้งนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบจากการวิ่งที่ไม่มีการแข่งขันเป็นเน้นเพื่อการแข่งขันดังนั้นนักวิ่งการให้ความสำคัญกับนักวิ่งจะเน้นไปที่แนวหน้าเป็นหลัก ดังนั้นการวิ่งที่มีรูปแบบในลักษณะนี้ให้นักวิ่งแนวกลางหรือกลุ่มไม้ประดับพึงตระหนักและคำนึงให้รอบคอบว่าจะยอมรับสภาพ การดูแลที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักได้หรือไม่ ส่วนในเรื่องของเส้นทางการวิ่งพิทักษ์หัวหินที่เปลี่ยนไปในครั้งนี้ก็ไม่ยากเท่าไหร่นักวิ่งทุกระดับสามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ เพียงแต่สภาพอากาศที่ร้อนเป็นปกติในช่วงฤดูกาลนี้เท่านั้นที่อาจจะเป็นอุปสรรคให้กับนักวิ่งที่แพ้อากาศร้อนๆ

คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
จากปีที่แล้ว 2548 งานวิ่งพิทักษ์หัวหินเป็นงานวิ่งที่ได้คะแนนการประเมินสูงสุดของปีถือว่าเป็นการจัดงานวิ่งที่น่าวิ่งมาก แต่ในปีนี้ 2549 รูปแบบงานวิ่งพิทักษ์หัวหินได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปมาก... ประเด็นหลักที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
ประเด็นที่ 1. รูปแบบการจัดงานในครั้งนี้เปลี่ยนจากเดิมโดยก่อนหน้านี้ไม่มีรางวัลให้นักวิ่ง ไม่มีการแข่งขันเต็มรูปแบบเช่นครั้งนี้ มีเพียงเสื้อและเหรียญเท่านั้นที่แจกจ่ายให้กับนักวิ่งเป็นของระลึก จากจุดยืนที่เปลี่ยนไปก็ส่งผลทำให้ความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม เป้าหมายที่จะพิทักษ์หัวหินก็ลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด ถังขยะที่เคยเตรียมไว้ระหว่างเส้นทางวิ่งตามจุดให้น้ำก็หายไป นักวิ่งแข่งขันแทบไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ แต่ต่างกับนักวิ่งเพื่อสุขภาพที่วิ่งกันเพื่อความสนุก ความเพลิดเพลินบันเทิงใจ กับแก้วน้ำ 1 ใบโยนใส่ถังขยะนักวิ่งกลุ่มนี้ไม่กลัวเสียเวลาอยู่แล้ว มันทำให้งานวิ่งเป็นงานวิ่งที่ดูสะอาดตา หรือเราเรียก Green Running หรือ Eco-marathon ซึ่งมีงานวิ่งไม่กี่งานที่ให้ความสำคัญตรงจุดนี้ และส่วนหนึ่งเดิน-วิ่งพิทักษ์เพื่อเป็นการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการทะนุบำรุงสิ่งแวดล้อมของเมืองหัวหิน (Preserve Hua Hin) ดังนั้นอยากให้หันกลับมามองตรงจุดนี้อีกครั้ง

2. เส้นทางการแข่งขันที่เปลี่ยนไป เส้นทางที่สวยงามบนหาดทรายและท้าทายด้วยการขึ้น-ลงเขาหินเหล็กไฟถูกเปลี่ยนไปวิ่งบนถนนยาวลาดยางแทน เส้นการวิ่งครั้งนี้นักวิ่งหลายคนตั้งความหวังไว้ที่จะได้วิ่งบนหาดทรายแห่งเมืองหัวหิน ได้สัมผัสกับบรรยากาศพระอาทิตย์ขึ้นจากทะเลยามเช้าเหมือนครั้งที่ผ่านๆมา แต่ก็ต้องผิดหวังกลับไป เส้นทางการวิ่งที่ดูจะไม่เป็นเอกลักษณ์สำหรับเมืองหัวหินเพราะเส้นทางเช่นนี้นักวิ่งสามารถหาวิ่งได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาไกลถึงหัวหินก็วิ่งได้.... หากผู้จัดยังต้องการดึงดูดนักวิ่งในภูมิภาคอื่นๆคงต้องหาเส้นทางที่มีความเป็นเอกลักษณ์ไปหาวิ่งที่ไหนไม่ได้แล้วต้องมาวิ่งหัวหินเท่านั้นถึงจะได้สัมผัสบรรยากาศเช่นนี้ เส้นทางการวิ่งในปี 2548 จากเขาหินเหล็กไฟ วิ่งสู่หาดทรายหัวหินไปเขาตะเกียบก็ดีทีเดียวนอกจากจะได้สัมผัสหาดทรายเมืองหัวหิน ยังแฝงไว้ด้วยความท้าทายในการวิ่งขึ้นเขาอีกด้วย
3. กองเชียร์ของนักเรียน นักศึกษา จากโรงเรียน สถาบันและมหาวิทยาลัยต่างๆที่หายไป ช่วยเป็นแรงเชียร์แรงใจให้กับนักวิ่งได้เยอะทีเดียวและทำให้กิจกรรมการวิ่งพิทักษ์หัวหินมีสีสรรเพิ่มมากขึ้น การนำงบประมาณการจัดงานในครั้งนี้ไปเป็นรางวัลให้กับนักวิ่งแนวหน้าจำนวนมากมาย เปลี่ยนมาเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษา หรือโรงเรียนที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมดีๆเหมือนอย่างที่ผ่านมา ดูน่าจะมีคุณค่ามากกว่านี้ เงินรางวัลจะตอบสนองเพียงนักวิ่งแนวหน้าเพียงไม่กี่คนแต่จะมีสักกี่คนที่ประทับใจและจดจำว่าได้เงินรางวัลจากสนามนี้ แต่ถึงจะไม่มีเงินรางวัลก็ยังมีนักวิ่งแนวหน้าบางท่านที่มีสปิริตของความเป็นนักกีฬา นักวิ่ง ที่ไม่ได้หวังเพียงแค่เงินรางวัลก็มี อาทิ คุณนิวัฒน์ อ้อยทิพย์ แม้จะเป็นนักวิ่งแนวหน้า จะมีเงินรางวัลหรือไม่มีหากกิจกรรมคุณมีประโยชน์และดีจริงนักวิ่งแนวหน้าผู้มีน้ำใจนักกีฬาท่านนี้และอีกหลายๆคนก็ยินดีร่วมงาน
4. นอกจากการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ความใส่ใจของเจ้าหน้าในสนามการแข่งขัน ก็ดูจะลดน้อยลงไปกว่าก่อนอย่างเห็นได้ชัด แต่เจ้าหน้าที่ดีๆก็ยังมีอยู่แต่ก็ไม่ดีเท่าที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรดาของสรรพสิ่งในโลกนี้ การเปลี่ยนแปลงของงานวิ่งพิทักษ์หัวหินในครั้งนี้ก็เช่นกัน แต่บังเอิญมันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดูราวกับว่าจะก้าวถอยหลังไปสักหน่อย แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการจัดงานครั้งต่อไปจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่านี้ ให้สมกับงานวิ่งชื่อดีๆ อย่าง เดิน-วิ่งพิทักษ์หัวหิน (Preserve Hua Hin)

30.4.49

สิงห์บุรี มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 12

งานวิ่งสิงห์บุรี มินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 12
วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2549
ณ ศาลาประชาคาปึงเถ่ากงม่า จ. สิงห์บุรี
สรุปผลการประเมิน TRES: (85 คะแนน) จัดงานได้ดี ขอแนะนำว่าน่าไปวิ่ง

เส้นทางการวิ่ง:
การแข่งขันในครั้งนี้มีให้เลือกถึง 3 ระยะ คือ 5, 10 และ 21 กิโล ซึ่งถือว่าเป็นการจัดให้ตอบสนองนักวิ่งได้ทุกระดับรวมไปถึงระดับเยาวชนด้วย เส้นทางการวิ่งเป็นการวิ่งไป-กลับทั้ง 3 ระยะ สำหรับระยะ 10 กิโล และ 21 กิโล นอกจากต้องวิ่งทางเรียบแล้ว ยังมีสะพานสูงสองสะพานให้ออกแรงกันอีกนิดหน่อย จุดสตาร์ทของงานนี้อยู่บริเวณหน้าศาลาประชาคาปึงเถ่ากงม่า พอปล่อยตัวออกไปเลี้ยวขวาสู่ถนนหลัก วิ่งตรงไปถึงแยกห้องสมุดประชาชนเลี้ยวขวาอีกครั้ง แล้ววิ่งตรงไปผ่านวัดสว่างอารมณ์ หลังจากนั้นก็ขึ้นสะพานแรกเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา วิ่งไปเรื่อยๆ ขึ้นสะพานที่สองข้ามแม่น้ำลพบุรี จากนั้นวิ่งต่อไปอีกประมาณ 1 กิโล ทั้งมินิและฮาล์ฟกลับตัวที่จุดเดียวกัน เมื่อกลับตัวแล้วมินิวิ่งกลับเส้นทางเดิมแล้วเข้าสู่เส้นชัย ส่วนฮาล์ฟก่อนจะข้ามสะพานแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายวิ่งเรียบแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านหมู่บ้าน ชุมชนชาวสิงห์บุรี วิ่งไปเรื่อยๆแล้วไปกลับตัวที่กิโลที่ 12.5 กลับออกมาวิ่งขึ้นสะพานแม่น้ำเจ้าพระยา และวิ่งย้อนกลับเส้นทางเดิมเข้าสู่เส้นชัย สภาพอากาศในครั้งนี้ไม่ร้อนอย่างที่คิด อาจเนื่องมาจากเย็นวันเสาร์มีฝนตกลงมา

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
สนามนี้เป็นสนามที่เหมาะสำหรับนักวิ่งทุกประเภท ไม่ว่าจะมือใหม่ เท้าใหม่ หรือเก่ามานาน ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร นักวิ่งก็ไม่ต้องเป็นห่วง ระหว่างเส้นทางมีน้ำบริการให้ไม่ขาดสาย มีรถพยาบาลดูแลตลอดเส้นทาง เป็นงานวิ่งที่นักวิ่งควรให้การสนับสนุนเลยทีเดียว นอกจากนั้นวิ่งไป เที่ยวไป หาอะไรกินอร่อยๆ งานนี้เป็นที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
สำหรับงานที่จัดได้ดีโดยส่วนใหญ่ข้อดีจะมีเยอะ ส่วนข้อบกพร่องจะมีน้อยดังนั้นสนามนี้จึงเป็นอีกสนามหนึ่งที่จะยกข้อที่ควรแก้ไขขึ้นมาก่อนเพื่อที่คราวหน้าผู้จัดจะได้แก้ไขในส่วนนี้ ซึ่งจะทำให้ในการจัดครั้งต่อไปจะจัดงานได้อย่างดีเยี่ยมแน่นอน สิ่งที่อยากแนะนำคือผู้จัดควรมีความตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีกสักหน่อย เนื่องจากงานนี้เป็นงานที่จัดได้ดี นักวิ่งจึงให้ความสนใจไปร่วมงานกันอย่างคับคั่ง เมื่อนักวิ่งมากขยะที่ตามมากับนักวิ่งก็มีมากขึ้นด้วย ผู้จัดควรเตรียมถังหรือถุงขยะให้มากขึ้นด้วยเพื่อนักวิ่งจะได้ทิ้งขยะลงในถัง เพื่อให้บริเวณสถานที่การจัดงานดูดี งามตามากยิ่งขึ้น และในส่วนของเส้นทางการวิ่ง บริเวณจุดให้น้ำก็ควรจะมีถังขยะหรือภาชนะรองรับบ้าง สังเกตจากจุดให้น้ำระหว่างเส้นทางการวิ่ง บางจุดเป็นหน้าบ้านของชาวบ้าน นักวิ่งก็ทิ้งแก้วน้ำหน้าบ้านเค้าเฉยเลย เสร็จแล้วหน้าบ้านหรือบางทีก็หน้าร้านเค้าดูเหมือนเป็นกองขยะไปเลย ยิ่งเปิดรับอรุณวันใหม่ตื่นมาแต่เช้า ดัน...มีขยะเต็มหน้าบ้าน ถ้าเป็นหน้าบ้านเราแล้วโดนแบบนี้เราก็คงไม่พอใจ และมองในระยะไกลชาวบ้านเหล่านี้แทนที่เค้าจะเข้ามาส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการจัดงานเค้าอาจจะเห็นว่ากิจกรรมอย่างนี้ทำให้เค้าต้องเดือดร้อนก็ได้ แต่หากผู้จัดแก้ไขตรงจุดนี้ได้ก็จะเป็นการดี และในการรับสมัครกรณีพิเศษสำหรับผู้ร่วมงาน 9 ครั้งมาแล้ว หากทางผู้จัดเอาคอมพิวเตอร์มารับสมัครและจัดเก็บข้อมูลก็จะเป็นการดีมากยิ่งขึ้น เพราะบางครั้งนักวิ่งก็ไม่ได้เก็บใบเสร็จหรือเหรียญวิ่งในแต่ละครั้งไว้ หากผู้จัดมีฐานข้อมูลนักวิ่งที่เคยวิ่งเก็บไว้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี อย่างที่สิชลมินิ-ฮาล์ฟมาราธอนได้นำมาใช้

สำหรับเรื่องที่ดีสำหรับงานนี้นักวิ่งที่ได้ร่วมงานคงได้สัมผัสกันแล้วถือว่าผู้จัดได้เตรียมการกันมาอย่างดี พัฒนาและปรับปรุงกันมาตลอด 12 ปี นักวิ่งที่มาร่วมงานเรียกได้ว่าคุ้มซะยิ่งกว่าคุ้ม ส่วนนักวิ่งท่านใดที่ยังไม่เคยมาสัมผัส ควรมาลองดูกันสักครั้ง สิ่งดีๆสำหรับงานนี้มีมากอาจจะเขียนออกมาไม่หมด จะยกเอาประเด็นหลักๆขึ้นมาเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้จัดดังนี้
1. เรื่องของการแบ่งระยะ ทั้ง 3 ระยะ ซึ่งมีความเหมาะสมกับนักวิ่งทุกประเภท และเส้นทางที่สวยงาม ไม่ยากไม่ง่ายเกินไป
2. การส่งเสริมให้นักเรียน และเยาวชนสนใจมาออกกำลังกาย ด้วยการไม่เก็บค่าสมัครแถมมีการมอบทุนการศึกษาเป็นรางวัล 3. ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของคนในชุมชน การให้การต้อนรับที่อบอุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร กองเชียร์ระหว่างเส้นทางการแข่งขัน ล้วนแล้วแต่เป็นสีสันของงานวิ่งสิงห์บุรีมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน
4. การให้บริการเดินทางที่สะดวก มีสองแถวฟรีสำหรับนักวิ่ง และบริการข้อมูลข่าวสารให้กับนักวิ่งได้เป็นอย่างดี
5. สำหรับปีนี้ถ้วยรางวัลสวยงามเป็นพิเศษ ใครได้ไปคงต้องถนุถนอมเป็นอย่างดี
สำหรับสิงห์บุรีมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน หากรักษาคุณภาพไว้เช่นนี้เชื่อว่างานนี้จะต้องเป็นงานวิ่งที่นักวิ่งให้การสนับสนุนต่อไปอีกนานเท่านาน ขอเป็นกำลังใจให้ผู้จัดในครั้งต่อไป 29 เมษายน 2550 นักวิ่งไม่ควรพลาด

23.4.49

งานเดิน-วิ่ง เทิดพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี

งานเดิน-วิ่ง เทิดพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี
วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน 2549
ณ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
สรุปผลการประเมิน TRES: (69 คะแนน) การจัดงานพอใช้ได้แต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร

เส้นทางการวิ่ง: เส้นทางการวิ่งระยะมินิมาราธอนเป็นการวิ่ง-วน อ้อมกลับมาเข้าเส้นชัยที่เดิม โดยจุดสตาร์ทและเส้นชัยอยู่ข้างสนามฟุตบอลบริเวณการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ออกจากจุดสตาร์ทไปแล้วในระยะ 5 กิโลแรก เส้นทางการวิ่งยังอยู่ในเขตของ รฟม. และบนถนนรัชดาซึ่งนักวิ่งยังวิ่งกันได้สะดวกเพราะไม่มีรถยนต์ แต่หลังจากกม.ที่ 5 ต้องเลี้ยวขวาขึ้นไปวิ่งบนเส้นทางที่มีการก่อสร้างเส้นทางการวิ่งไม่ค่อยดีนัก จากนั้นระหว่างกม. ที่ 6-9 นักวิ่งวิ่งบนถนนกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นถนนสายหลัก การจราจรไม่สามารถปิดได้สนิท นักวิ่งต้องระวังกันหน่อยขณะวิ่ง และกม.สุดท้ายที่เหลือ ก็กลับเข้าสู่บริเวณ รฟม. แล้วเข้าสู่เส้นชัย สภาพโดยรวมของเส้นทางการแข่งขันยังไม่ดีนัก

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: งานนี้เพิ่งจัดเป็นครั้งแรกและใช้เส้นทางการวิ่งที่ไม่เคยมีการจัดวิ่งมาก่อนเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี นักวิ่งโดยส่วนใหญ่ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ ได้มาลองวิ่งเส้นทางใหม่ๆ ถึงแม้จะเป็นเส้นทางที่จัดวิ่งเป็นครั้งแรก แต่เป็นเส้นทางในตัวเมืองกรุงเทพดังสภาพบรรยากาศที่ออกมาจึงไม่ค่อยแตกต่างจากสนามวิ่งในกรุงเทพอื่นๆมากนัก

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: เนื่องจากการจัดในครั้งนี้เป็นครั้งแรกและไม่แน่ใจว่าจะมีการจัดการแข่งขันเช่นนี้หรือเปล่า แต่ดูจากความน่าจะเป็นแล้วคงไม่น่าจัด เนื่องจากงานวิ่งโดยส่วนใหญ่ หากมีการจัดวิ่งเป็นกรณีพิเศษมักจะมีค่าสมัครที่ค่อนข้างสูงกว่างานวิ่งทั่วๆไป หรืองานวิ่งที่จัดกันเป็นประจำทุกปีเพื่อส่งเสริมการออกกำลังงานวิ่งเหล่านี้ค่าสมัครจะถูกลงมาอีกหน่อยและมีค่าสมัครสำหรับเยาวชนอีกด้วย ดังนั้นอยากฝากไว้สำหรับผู้จัดในครั้งนี้ แม้จะเป็นงานวิ่งที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหารายได้ไปทำประโยชน์ในด้านต่างๆ แต่ก็อยากฝากให้มีค่าสมัครสำหรับเยาวชนบ้างก็จะดีไม่น้อย

9.4.49

สงกรานต์มาราธอน ครั้งที่ 20

งานวิ่งสงกรานต์มาราธอน ครั้งที่ 20
วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน 2549
ณ สวนลุมพินี กรุงเทพ
สรุปผลการประเมิน TRES: (69 คะแนน) การจัดงานพอใช้ได้แต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร

เส้นทางการวิ่ง:
เป็นระยะมาราธอนที่วิ่งวนเป็นรอบจำนวน 17 รอบ ภายในสวนลุมพินี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะ เส้นทางวิ่งเป็นทางเรียบ นอกจากจะมีนักวิ่งยังมีประชาชนทั่วไปมาออกกำลังกายในเส้นทางการวิ่งด้วย การวิ่งปล่อยตัวเวลา 08.00 น. และจัดในช่วงหน้าร้อน ทำให้บรรยากาศและสภาพอากาศขณะแข่งขันร้อนมาก เส้นทางการแข่งขันยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจากครั้งที่ผ่านมาในปี 2548

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: งานนี้คงต้องยืนยันว่าสงกรานต์มาราธอนเป็นมาราธอนที่วิ่งยากไม่ง่ายเหมือนที่นักวิ่งหลายคนคิด ไม่ใช้เพราะเส้นทางแต่เป็นเพราะอากาศที่ร้อนจัด หรือเรียกได้ว่าเป็นสนามที่ร้อนที่สุดในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ ดังนั้นสนามนี้จึงเป็นสนามที่ท้าทายมนุษย์มาราธอนมากพอดู สนามนี้ไม่เหมาะที่จะเป็นมาราธอนแรกของผู้เริ่มวิ่งมาราธอน และสำหรับผู้ที่ผ่านมาราธอนมาแล้วหลายๆสนามก็ตามที ก็ควรฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นคุณก็อาจไม่จบมาราธอนนี้อย่างง่ายๆเหมือนกัน และในครั้งนี้นักวิ่งจำนวนไม่น้อยที่แม้จะผ่านมาราธอนมานับสิบแล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถทนสู้กับความร้อนผ่านเข้าสู่เส้นชัย

คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
จากการประเมินที่ผ่านมาในปี 2548 ปีนี้ ผู้จัดถือว่ามีการปรับปรุงพัฒนามากขึ้น ในจุดบกพร่องที่สำคัญ เช่นการเพิ่มจุดให้น้ำและการเตรียมพร้อมในเรื่องความปลอดภัยให้กับนักวิ่ง แต่ถึงแม้จะมีการปรับปรุงในประเด็นสำคัญหลักๆแล้วก็ตาม แต่โดยรวมแล้วยังออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากลักษณะของเส้นทางการแข่งขันที่ต้องวิ่งเป็นรอบ และวิ่งในสวนสาธารณะ ซึ่งสวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณที่ประชาชนทั่วไปมาออกกำลังกายกันมาก จึงทำให้นักวิ่งวิ่งได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร และนอกจากนั้น การประชาสัมพันธ์ที่กระชั้นชิดจนเกินไปเป็นไปได้ในการจัดมาราธอน ผู้จัดควรประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนเพื่อการเตรียมตัว และในการจัดครั้งต่อๆไปหากผู้จัดยังคงที่จะดำรงรักษาประเพณีการวิ่งสงกรานต์มาราธอนโดยที่จะไม่เปลี่ยนแปลงเส้นทางการวิ่ง อยากให้ผู้จัดส่งเสริมให้มีกองเชียร์หลายๆกลุ่มไม่ว่าจะมาจากกลุ่มนักวิ่งเอง หรือจากชุมชนภายนอก เพื่อความสนุกสนานครื้นเครงเป็นกำลังใจแก่นักวิ่งให้มากว่านี้ เพราะการวิ่งเป็นรอบๆ ในสภาพอากาศร้อนๆ ยิ่งจะทำให้นักวิ่งเบื่อเอาง่ายๆ และไม่จบเกมส์เอาง่ายๆเหมือนกัน

20.3.49

ไอเอ็นจี วัฒนธรรมไทยมาราธอน นานาชาติ

งานวิ่ง ไอเอ็นจีวัฒนธรรมไทยมาราธอน นานาชาติ
วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2549ณ วัดภุมรินทร์กุฎีทอง อ. อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
สรุปผลการประเมิน TRES: (66 คะแนน) การจัดงานพอใช้ได้แต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร

เส้นทางการวิ่ง:
เส้นทางการแข่งขันระยะมาราธอนใช้เส้นทางวิ่งไปกลับ โดยวิ่งไปตามถนนในชุมชนผ่านสวนผลไม้นานาชนิด อาทิ ส้มโอ ลิ้นจี่ มะพร้าว ขนุน มะม่วง ชมพู่ กล้วย เป็นต้น เป็นเส้นทางที่ใช้สัญจรไปมาของคนในชุมชนที่มีวิถีชีวิตเน้นทางด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก ดังนั้นจึงมีคูคลองหลายสาย ทำให้เส้นทางก็จะมีสะพานหลายสะพานไม่ใช่แค่เพียงทางเรียบวิ่งกันง่ายๆ ตามเส้นทางการวิ่งสนามนี้จะเป็นสนามที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในด้านการได้เห็นการดำเนินชีวิตของคนชุมชนจริงๆ ได้เห็นชาวบ้านกำลังทำสวน ทำนา สอยมะพร้าว ปลอกมะพร้าว ใส่ปุ๋ย เป็นเส้นทางที่ยังคงแสดงให้เห็นวิถีชีวิตคนไทยในอดีตที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากช่วงนี้ใกล้เข้าสู่ช่วงสงกรานต์ อากาศก็จะร้อนเป็นปกติของบ้านเรา และกอรปกับการปล่อยตัวสาย ก็เลยส่งผลให้นักวิ่งร้อน และต้องวิ่งตากแดดกันบ้าง

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง: สนามวิ่งที่จัดในช่วงนี้จนถึงช่วงเมษายน จะเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างร้อนมาก หรือร้อนกว่าช่วงฤดูกาลอื่นๆ ดังนั้นนักวิ่งที่แพ้แดด กลัวร้อน ก็ไม่ควรที่จะลงระยะไกลๆ หรือบางท่านแพ้แดดอย่างแรงก็ควรเลี่ยงสนามในช่วงนี้ แต่หากจะลงก็คงต้องเตรียมความพร้อมมาเพื่อรับสภาพกับสนามนั้นๆให้ได้ ไม่ว่าจะซ้อม หรือมีอุปกรณ์ช่วยป้องกันแดด ไม่ว่าจะเป็นหมวก เสื้อหรือกางเกงขายาว เพราะหากจะให้สนามวิ่งทุกสนามจัดในช่วงที่อากาศดี เย็นสบายเหมือนกันทุกสนามก็คงไม่มีอะไรที่จะมาสร้างความตื่นเต้น ความท้าทายให้กับบรรดานักวิ่งที่มีหลากหลาย ดังนั้นสนามนี้ก็เป็นอีกสนามที่น่าวิ่ง แต่นักวิ่งต้องประเมินตนเองและสภาพสนามให้ดี จากปีที่แล้วจัดวิ่งช่วงเย็นวิ่งกันยันเที่ยงคืน ปีนี้จัดวิ่งสายหน่อยวิ่งกันจนเที่ยง สนามนี้จึงเป็นสนามที่สอนอะไรๆให้นักวิ่งได้รับรู้มากขึ้น “วิ่ง” เพียงอย่างเดียวไม่พอ นอกจากการเตรียมตัวการประเมินตนเองแล้ว การประเมินสภาพและคาดการ์ณในสนามก็เป็นสิ่งสำคัญ
ส่วนเรื่องอื่นๆ อาทิ ค่าสมัครที่สูงกว่าหลายๆสนาม อันนี้เป็นเรื่องที่นักวิ่งควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เนื่องจากบางคนก็เต็มใจที่จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งประสพการ์ณ บางคนคิดว่าเอาเงินที่จะจ่ายสนามนี้ไปจ่ายสนามอื่นดีกว่าได้วิ่งอีกหลายสนาม เป็นต้น ทั้งนี้ก็แล้วแต่บุคคล

คำแนะนำสำหรับผู้จัด: เนื่องจากผู้จัดอาจต้องการเน้นประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ซึ่งจะเห็นได้จากการใช้ชื่อ สถานที่ และเส้นทางการวิ่งที่มีการแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสวยงามที่นักวิ่งทั้งไทยรู้สึกภูมิใจและดีใจ และนักวิ่งต่างชาติก็รู้สึกตื่นเต้นกับการแสดงเหล่านั้นเช่นกัน แต่ส่วนลึกๆในใจในฐานะนักวิ่งไทยคนหนึ่ง เรารู้สึกว่าสิ่งที่เอามาโชว์นั้นมันเป็นแค่เพียงการแสดงเท่านั้นจริงๆ ราวกับว่านักแสดงถูกจับเอามาวางแล้วเค้าให้แสดงอะไรก็แสดง ไม่ค่อยมีชีวิตชีวา นักวิ่งจะวิ่งก็วิ่งไป นักแสดงจะแสดงก็แสดงไป ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กันสักเท่าไหร่นัก การจัดงานวิ่งอย่างนี้ชุมชนควรมีส่วนร่วมมากกว่านี้แต่ดูไปแล้วชุมชนก็ยังมีส่วนร่วมไม่มากเท่าใดนัก

เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักวิ่ง เรื่องแรกเรื่องความปลอดภัยในชีวิต บนเส้นทางการแข่งขัน การควบคุมการจราจรถึงแม้จะวิ่งถนนซึ่งใช้กันในชุมชน ในหมู่บ้าน แต่การจราจรก็พลุกพล่านในบางจุด ซึ่งส่งผลให้นักวิ่งบางท่านได้รับอันตราย ซึ่งปีที่แล้วก็มีปัญหานี้เช่นกัน และในส่วนของทรัพย์สินที่สูญหาย ซึ่งหากจะแก้ไขตรงจุดนี้ เจ้าหน้าที่และคนในชุมชนควรมีส่วนร่วมให้ขึ้น

ส่วนเรื่องการจัดมาราธอนในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศร้อนมากจนถึงโค-ต-ร ร้อน ไม่ว่าจะปล่อยตัวเช้า สาย บ่าย เย็น การให้น้ำทุกๆ 2.5 กิโลค่อนข้างที่จะห่างเกินไปอาจจะย่นมาทุกๆ 2 กิโลน่าจะดีกว่า

การประมวลผลสำหรับนักวิ่งแนวหน้าซึ่งจะขึ้นรับรางวัลต่างๆ การใช้ชิพปัจจุบันยังมีจุดผิดพลาดและบกพร่องไปบ้างดังนั้นการใช้ป้ายบอกอันดับก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยการแจกรางวัลรวดเร็ว กระชับ ฉับไว มากยิ่งขึ้น ปัญหาสำหรับนักวิ่งแนวหน้าก็จะลดลงไป แม้นักวิ่งที่มีปัญหาจะมีไม่มากนักแต่ก็เป็นการดีสำหรับผู้จัดเองที่ทำให้นักวิ่งทุกระดับประทับใจ


อาหารสำหรับนักวิ่งมีเพียงข้าวต้ม และมาม่าเท่านั้น นักวิ่งเข้าไปวิ่งถึงสวนผลไม้ ส้มโอ ลิ้นจี่ มะปราง มะพร้าว แต่นักวิ่งไม่มีโอกาสได้ลิ้มลอง นอกจากจะต้องใช้เงินซื้อมารับประทานเอง อันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะบรรยายออกมายังไงเหมือนกัน....

สุดท้ายเป็นสิ่งที่ทำให้นักวิ่งหลายคนน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าทำไมผู้จัดเอาใจนักวิ่งต่างชาติซะเหลือเกิน อันนี้นักวิ่งหลายท่านก็เข้าใจว่าทำไม สาเหตุก็คือ นักวิ่งต่างชาติมาวิ่งแบบแพคเกจทัวร์ซึ่งจ่ายค่าสมัครรวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆแพงกว่าชาวบ้านเค้า แต่อยากแนะนำผู้จัดว่าการจะ treat นักวิ่งเหล่านี้ดีกว่าคงไม่เป็นไร แต่ในสนามแข่งขันบริเวณงานนักวิ่งทุกคนน่าจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกัน ไม่ควรแบ่งแยก แต่หลังจากเสร็จสิ้นการแข่งขันแล้วท่านจะแยกนักวิ่งกลุ่มนี้ออกไปก็ไม่เป็นไรหรือหากจะมีบริการพิเศษอื่นๆก็ควรจะแยกออกไป เพื่อไม่ทำให้นักวิ่งเกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้นักวิ่งเข้าใจผู้จัดผิดไปด้วย

งานนี้ฟังจากประสบการ์ณที่นักวิ่งหลายๆท่านบอกเล่ากันบนเว็บบอร์ดแห่งนี้ดูเหมือนจะมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงกันค่อนข้างเยอะพอสมควร แต่สิ่งเหล่านั้นโดยส่วนใหญ่เป็นทางด้านการจัดการซะมากกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่สนามนี้ต้องการเป็นอย่างมากที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆได้นั่นก็คือ ความร่วมมือจากชุมชน น้ำใสใจจริงจากชาวบ้าน ที่จะคิดว่างานนี้เป็นส่วนหนึ่ง เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญของชุมชน

13.3.49

โรงพยาบาลสิชลมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 5

ชื่องาน: โรงพยาบาลสิชลมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 5
วันที่: 12 มีนาคม 2549
สถานที่: โรงพยาบาลสิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
สรุปผลการประเมิน: 82 คะแนน ดี น่าไปวิ่ง

เส้นทางการเดิน-วิ่ง:
สนามนี้มีการแข่งขัน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะฟันรัน 3.5 กม. มินิ 10.5 และ ฮาล์ฟ 21.1 กม. เส้นทางการแข่งขันเมื่อปล่อยตัวออกจากจุดสตาร์ทไปแล้วเลี้ยวซ้าย แล้ววิ่งวนอ้อมกลับเข้าสู่เส้นชัยอีกด้านนึง ทั้งสามระยะจะคล้ายกัน ในระยะมินิและฮาล์ฟเส้นทางการวิ่งเป็นถนนลาดยาง ทางเรียบผสมเนินเตี้ยๆ 2-3 เนิน และปิดท้ายก่อนเข้าเส้นชัยด้วยเนินสูงชัน บรรยากาศโดยรวมเป็นการวิ่งชมหมูบ้านในอ.สิชล ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีอาชีพทำประมง และเป็นแหล่งชุมชนที่มีฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกกุ้งจำหน่าย สำหรับบรรยากาศริมหาดไม่ค่อยได้เห็นมากนักเนื่องจากเป็นแหล่งชุมชนมีบ้านเรือนตั้งเรียงรายทำให้เส้นทางระหว่างการวิ่งนักวิ่งไม่ได้สัมผัสบรรยากาศท้องทะเลมากนัก หาดในบริเวณอ.สิชล ส่วนใหญ่เป็นหาดหิน ซึ่งจะให้นักวิ่งลงไปวิ่งก็คงจะลำบาก ดังนั้นเส้นทางการวิ่งสำหรับงานนี้ก็ถือว่าเหมาะสม ไม่ยากและก็ไม่ง่ายเกินไป เป็นสนามที่สนับสนุนให้คนในชุมชนได้สนใจมาออกกำลังกายกันมากขึ้น

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
สนามนี้เป็นสนามที่มีความเหมาะสมกับนักวิ่งทุกระดับ ระยะทาง 3.5 กิโล ที่เหมาะกับเยาวชนและนักวิ่งที่เพิ่งออกมาวิ่งได้ไม่นาน หรือนักวิ่งที่ชอบวิ่งสั้น ถัดมาเป็นระยะมินิที่เหมาะกับนักวิ่งที่ผ่านสนามมาพอสมควร มีเนินให้ทดสอบและออกแรงกันอีกนิดหน่อย ส่วนระยะฮาล์ฟเป็นระยะเหมาะสำหรับนักวิ่งที่ชอบวิ่งไกลๆ ประเภทวิ่งไปเที่ยวไป ไปไกลๆทั้งทีก็ต้องวิ่งให้คุ้มก็ลงระยะฮาล์ฟ ดังนั้นสนามนี้เป็นสนามที่เหมาะกับนักวิ่งทุกระดับจริงๆ เป็นสนามที่มีความพร้อมในด้านการจัดงานเป็นอย่างมากหากใครได้มีโอกาสมาวิ่งสนามนี้รับรองไม่ผิดหวัง นอกจากนั้นการแจกรางวัลและการแบ่งรุ่นอายุการแข่งขันเรียกว่าผู้จัดก็แจกไม่อั้นเช่นกัน ดังนั้นนักวิ่งที่ลุ้นถ้วยและรางวัลสนามนี้ก็เปิดโอกาสให้ไม่น้อย ซ้อมมาดีก็มีโอกาสได้ถ้วยติดมือกลับบ้าน

คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
ก่อนอื่นสำหรับสนามนี้ต้องขอติงก่อนเลยเพราะส่วนดีมีมาก จุดบกพร่องมีแค่เพียงนิดเดียวเท่านั้นคือเรื่องจุดให้น้ำที่ตั้งพลาดไปและมีบางจุดเหลือแต่น้ำแข็งให้นักวิ่งรวมถึงเรื่องถังขยะในบริเวณจุดให้น้ำซึ่งยังขาดไป แต่ข้อผิดพลาดตรงนี้ก็ไม่ใช่ข้อผิดพลาดที่ใหญ่ โดยรวมในเรื่องนี้ก็ถือว่าใช้ได้แล้วแต่ปรับปรุงอีกนิด สนามนี้คงเรียกว่าเป็นอีกสนามที่สมบูรณ์แบบทีเดียว ทีนี้ก็มาร่ายยาวกับสิ่งดีๆที่ผู้จัดสนามนี้ได้จัดให้กับนักวิ่งกันดีกว่า เริ่มจากเรื่องแรกคือ การต้อนรับที่อบอุ่นให้บริการนักวิ่งด้วยรอยยิ้มและน้ำใจ การรับสมัครที่ต้องการข้อมูลชัดเจนเพื่อคีย์เข้าคอมพิวเตอร์แต่บางทีนักวิ่งเขียนอ่านไม่ออกนักวิ่งนับร้อย ผู้รับสมัครก็คงรำคาญน่าดู คนไทยหรือเปล่าเนี้ยเขียนภาษาไทยแต่คนไทยอ่านไม่ออก แต่ก็ยิ้มหวานแล้วถามอย่างสุภาพว่าอยู่ที่ไหนคะ? ชื่ออะไรคะ? เกิดวันที่เท่าไหร่ เดือนอะไร ปีไหนคะ? แล้วก็ทวนให้เราฟังอีกครั้งว่าถูกหรือเปล่า... น่ารักซะไม่มี
เรื่องที่สองคือ เรื่องการแบ่งประเภทการแข่งขัน เป็นการจัดการแข่งขันที่เน้นกลุ่มเป้าหมายได้ตรงเป้าทีเดียว มีระยะฟันรัน มินิ และ ฮาล์ฟ ซึ่งระยะฟันรันเป็นระยะเริ่มต้นเพื่อเป็นการชักชวนให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมและเหมาะสำหรับเยาวชนและมีการแจกรางวัลให้ระยะนี้ ซึ่งถือว่าผู้จัดบรรลุวัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้เป็นอย่างมาก
เรื่องที่สามแม้ว่าจะมีการเตรียมอาหารใส่ถุงให้นักวิ่งบางส่วนหลังจากเข้าเส้นชัยแล้ว ก็ยังมีบางส่วนที่จัดเตรียมให้โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็น โจ๊ก ข้าวต้มมัด แตงโม เตรียมพร้อมเป็นอย่างดี
เรื่องที่สี่เรื่องการลงทะเบียนที่ทันสมัย สามารถเก็บข้อมูลนักวิ่งและสามารถนำไปเป็นฐานข้อมูลสำหรับการแข่งขันและนักวิ่งได้จริง หลังจากที่พบว่างานวิ่งสงขลามาราธอน 2547 งานวิ่งทางภาคใต้ได้มีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาประยุกต์ใช้แต่ครั้งนั้นยังพบว่าโปรแกรมยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร มาวันนี้ 12 มีนาคม 2549 งานนี้มีการนำโปรแกรมมาประยุกต์ใช้ พบว่าการทำงานและการประมวลผลค่อนข้างสมบูรณ์มากทีเดียว เชื่อว่าหากมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น มีการนำเซ็นเซอร์เข้าประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน อนาคตอาจจะมีระบบชิพไทม์มิ่งโดยคนไทยเพื่อนักวิ่งไทยแน่นอน อันนี้ก็ขอให้กลุ่มผู้ออกแบบโปรแกรมนี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป และอยากให้งานวิ่งอีกหลายๆงานที่สนใจลองติดต่อเพื่อนำมาใช้ดูนะคะจะเป็นประโยชน์มากทีเดียวในการเก็บข้อมูลนักวิ่ง
และเรื่องสุดท้าย เรื่องของเจ้าภาพและบริษัทรับจัดงาน บ่อยครั้งที่เราพบเห็นว่างานวิ่งบางงานผิดพลาดขึ้นมาก็ว่าเจ้าภาพไม่ทำตามคำแนะนำบริษัทผู้จัดบ้าง หรือเหตุผลนานานัปการ แต่งานนี้ก็ทำให้เห็นว่าแม้ว่าผู้จัดบางรายจะมีข้อด้อยในบางเรื่องแต่ก็จะมีข้อดีในเรื่องอื่นๆเช่นกัน ดังนั้นหากเจ้าภาพรู้ว่าตัวเองขาดจุดไหน ก็หาผู้จัดที่สามารถเติมเต็มให้กับเจ้าภาพได้งานก็จะออกมาดีได้เช่นกัน...
และท้ายนี้ขอให้ทีมงานรักษาคุณภาพงานวิ่งดีๆอย่างนี้และพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นไป และฝากผู้จัดอีกหลายๆรายที่สนใจในเรื่องระบบการรับสมัครที่มีประสิทธิภาพติดต่อทีมงานการจัดงานครั้งนี้ดูนะคะ สิ่งดีๆ มีคุณค่า ที่จะสามารถพัฒนาวงการวิ่งบ้านเรา โดยคนไทยเพื่อคนไทย....

27.2.49

น้ำใจไมตรีมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 3

ชื่องาน: น้ำใจไมตรีมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 3
วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2549
สถานที่: กองบิน 416 สนามบินเก่า จ.เชียงราย
สรุปผลการประเมิน: 79 คะแนน ดี

เส้นทางการเดิน-วิ่ง:
เส้นทางการแข่งขันสำหรับมินิและฮาล์ฟใช้เส้นทางเดียวกัน วิ่งไป-กลับเส้นทางเดิม มินิกลับตัวที่ 5 กิโล ส่วนฮาล์ฟกลับตัวที่ 10.5 กิโล เส้นทางเป็นเส้นทางครอสคันทรี ปล่อยตัวจากจุดสตาร์ทบริเวณ ลานบินสนามบินเก่า วิ่งบนลานประมาณ 500 เมตร เลี้ยวขวาขึ้นเนินไม่ชันมากผ่านวัดแล้วเข้าสู่ถนนคอนกรีตหมู่บ้าน ประมาณ 1 กิโล จากนั้นก็เป็นทางเรียบลาดยางจนกระทั่งถึงจุดกลับตัว แม้จะปล่อยตัวสาย ฮาล์ฟปล่อยเวลา 06.10 น. มินิปล่อยตัวเวลา 06.30 น. แต่อากาศเย็นมากๆ ไม่ร้อนอย่างที่คิด เส้นทางก็เป็นธรรมชาติดี ถึงแม้ช่วงสุดท้ายจะวิ่งบนถนนสายหลักแต่รถก็ไม่มากนัก นักวิ่งวิ่งกันสบายๆ

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
สนามนี้เป็นสนามแห่งเมืองท่องเที่ยว ดังนั้นจึงเหมาะกับนักวิ่งที่ชื่นชอบวิ่งไป เที่ยวไป เส้นทางการวิ่งก็ไม่ยาก มีให้เลือก 2 ระยะดังนั้นนักวิ่งมาไกลก็ไม่ต้องกลัวขาดทุน ลงฮาล์ฟก็ได้ ลงมินิก็เผื่อแรงไว้เที่ยวต่อ เป็นสนามที่น่าให้การสนับสนุน น่าวิ่งมาก

คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
งานนี้ต้องขอยกนิ้วให้กับชมรมวิ่งน้ำใจไมตรีเชียงราย ที่มีความตั้งใจในการจัดงานครั้งนี้ ความตั้งใจที่ดีบวกกับความร่วมมือของสมาชิกทุกคนทำให้ผลงานที่ออกมาดีมากทีเดียว สร้างความประทับใจให้กับนักวิ่งไม่น้อยเลย เชื่อว่าการจัดในครั้งต่อไปนักวิ่งคงร่วมงานไม่น้อยกว่าครั้งนี้แน่นอน ในการจัดครั้งต่อๆไปขอให้ชมรมวิ่งน้ำใจไมตรีรักษาคุณภาพงานให้ดีเช่นคราวนี้
ข้อเสนอแนะในการจัดงานครั้งนี้ จะเห็นว่างานนี้มีเงินรางวัลให้กับนักวิ่งฮาล์ฟมาราธอนเพียงอย่างเดียว ส่วนมินิมาราธอนหรือฟันรันไม่มีเงินรางวัล อยากให้ผู้จัดได้คำนึงถึงนักวิ่งเยาวชนที่ร่วมวิ่งระยะสั้นมากขึ้นกว่านี้ ในระยะมินิเห็นนักวิ่งเยาวชนทั้งชายและหญิงมากันเยอะพอสมควร และก็วิ่งกันเก่งมาก หากนำเงินรางวัลบางส่วนมามอบเป็นเงินรางวัลให้กับรุ่นเยาวชนในทุกระยะจะดีมากโดยไม่จำเป็นต้องแจกทุกรุ่น เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจและแรงกระตุ้นให้เยาวชนได้สนใจมาออกกำลังกายและนำเงินรางวัลไปเป็นทุนการศึกษาต่อไป ในส่วนเรื่องอื่นๆเชื่อว่าผู้จัดจะพัฒนาให้ดีมากยิ่งๆขึ้นต่อไปด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจจากน้ำใจไมตรีชาวเจียงฮายเจ้า...

13.2.49

80 ปีมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรีมาราธอน

ชื่องาน: 80 ปีมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรีมาราธอน
วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2549
สถานที่: มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี จ.เพชรบุรี
สรุปผลการประเมิน: 77 คะแนน เกือบดี

เส้นทางการเดิน-วิ่ง:
สำหรับสนามมาราธอนไม่โหดมากนัก เป็นทางเรียบเกือบร้อยเปอร์เซนต์ มีสะพานไม่สูงมากนักเพียงสะพานเดียว เรียกว่าเหมาะกับนักวิ่งทุกระดับ เส้นทางดูเหมือนจะติดทะเล แต่วิ่งๆไปรู้สึกเหมือนไปวิ่งนครพนมมาราธอนยังไงไม่รู้ เพราะนอกจากจะส่วนเส้นทางวิ่งจะไม่ค่อยได้สัมผัสวิวทิวทัศน์ของความเป็นทะเลซักเท่าไหร่ แต่เส้นทางยาววิ่งตรงไปสุดตา ข้างทางก็เป็นท้องทุ่งนา มีต้นตาลเรียงรายให้รู้ว่านี่เป็นดินแดนแห่งเมืองเพชรแน่นอน เส้นทางการวิ่งเป็นการวิ่งไป-กลับ มีจุดให้น้ำพร้อมป้ายบอกระยะทุกๆ 2 กิโล ดังนั้นป้ายบอกระยะทั้งไปและกลับใช้ป้ายอันเดียวกัน ขาไปก็บอกระยะทาง ขากลับก็บอกระยะที่เหลือ เอาแบบง่ายๆ แต่นักวิ่งเข้าใจแถมเป็นการประหยัดไปในตัว

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
สำหรับสนามนี้คงไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ขอให้นักวิ่งฝึกซ้อมตัวเองมาบ้างสนามนี้ก็ไม่ยากเลย วิ่งกันสบายๆ แต่มีสิ่งหนึ่งที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ประสบพบเห็นระหว่างการแข่งขัน.... การวิ่งมาราธอนนักวิ่งด้วยกันย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เวลาวิ่งก็ย่อมเหนื่อยล้า เป็นเรื่องธรรมดา แต่การที่เรารู้สึกว่าผู้จัด ทำไอ้นั่นไม่ดี ทำไอ้นี่ไม่พร้อม แล้วก็มาระบายอารมณ์กับนักเรียนนักศึกษา หรืออาสาสมัครต่างๆ ด้วยคำพูดแรงๆระหว่างการแข่งขันดิฉันคิดว่านั่นไม่เป็นการสมควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะเค้าเหล่านั้นยอมเสียสละเวลาตื่นแต่ดึกแต่ดื่นทั้งที่ไม่ใช่กิจวัตรของเค้า ต้องมาให้น้ำ มาคอยดูแลเราระหว่างการแข่งขัน และเค้าก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก แต่กับต้องมาโดนว่า หรือประมาณว่าด่าฝากอะไรทำนองนั้น... เค้าอุตส่าห์มาให้บริการเรา ดูแลเรา ตอบแทนเค้าด้วยคำพูดดีๆจะดีกว่าเยอะเลย แทนที่เค้าจะชังน้ำหน้านักวิ่ง เค้าอาจจะอยากออกมาวิ่งกับเราบ้างด้วยซ้ำไปเพราะวิ่งแล้วอารมณ์ หนุ่มขึ้น สาวขึ้น แข็งแรงกันทุกคน พอเข้าเส้นชัยมาคุณอยากจะระบายอะไรก็เชิญละทีนี้ แต่ขึ้คร้านจะบ่นจะว่าเพราะหมดแรงซะแล้ว....

คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
งานนี้เป็นการจัดวิ่งมาราธอนครั้งแรก ที่ใช้ชื่อว่า 80 ปีมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรีมาราธอน ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ทำได้ดีพอสมควรถึงแม้จะมีข้อบกพร่องไปบ้างก็ตาม การจัดมาราธอนไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย เพราะนักวิ่งใช้เวลาการบนเส้นทางวิ่งกันอย่างน้อยๆก็ 3 ชั่วโมง สำหรับนักวิ่งทั่วไป 4-6 ชั่วโมง ซึ่งระยะทางการวิ่งก็ยาวพอสมควรเจ้าหน้าที่ตามเส้นทางการแข่งขันก็ต้องใช้มากกว่าการจัดวิ่งระยะอื่นๆ จุดบริการนวดระหว่างเส้นทางก็ควรมีสำหรับระยะมาราธอน สิ่งสำคัญที่อยากแนะนำสำหรับทีมงานเพชรบุรีมาราธอนในครั้งนี้
ข้อที่ 1 คือเส้นทางการแข่งขัน เส้นทางการแข่งขันยังไม่มีจุดเด่นมากนักแม้จะเลือกวิ่งไปตามเส้นทางหาดเจ้าสำราญและหาดปึกเตียน แต่ว่าถนนค่อนข้างจะห่างกับหาดพอสมควรทำให้นักวิ่งไม่ได้เห็นทัศนียภาพของชายหาดเลย หากเปลี่ยนเส้นทางย้อนกลับไปขึ้นเขาวัง อาจจะทำให้เส้นทางเป็นเอกลักษณ์ได้มากขึ้น ท้าทายความสามารถของนักวิ่งมาราธอนมากขึ้นกว่านี้
ข้อที่ 2 ความพร้อมในการจัดวิ่งทั้ง 3 ระยะ มินิ ฮาล์ฟ และ มาราธอน ซึ่งเป็นการจัดครั้งแรกดูเหมือนจะยังไม่พร้อมเท่าที่ควรดังนั้นการจัดเพียง 2 ระยะ ระยะสั้นและยาวอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างฮาล์ฟหรือมาราธอนจะช่วยให้ผู้จัดทำงานไม่โหลดมากนัก มีคุณภาพมากขึ้น เมื่อมีความพร้อมแล้วจึงค่อยจัดทั้ง 3 ระยะก็จะช่วยให้งานมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ข้อที่ 3 วันเวลาการจัดงาน เนื่องจากการจัดมาราธอนเป็นการแข่งขันวิ่งระยะยาวที่นักวิ่งต้องมีการฝึกซ้อมกันเป็นอย่างดี และในปัจจุบันนักวิ่งระยะยาวในบ้านเรายังมีไม่มากนัก คนที่จะวิ่งยาวกันเป็นประจำก็จะมีหน้าเดิมๆ หน้าใหม่ๆก็นานๆทีจะออกมาวิ่ง ออกมาก็จะออกมาวิ่งสนามที่จัดเป็นประจำหรืองานใหญ่ๆ ดังนั้นสนามมาราธอนใหม่ๆก็จะต้องเน้นไปที่นักวิ่งหน้าเก่าซะมากกว่า ดังนั้นการจัดงานชนกับงานวิ่งระยะยาวสนามอื่นๆควรเลี่ยงที่สุด เพื่อให้มีนักวิ่งมาร่วมงานกันมากขึ้น

และสิ่งที่ต้องยกนิ้วให้ก็คือ จุดให้น้ำทุกๆ 2 กิโลที่มีผลไม้สดๆให้นักวิ่งได้อิ่มอร่อยกันตลอดทาง พร้อมทั้งอาหารเลี้ยงต้อนรับเย็นวันเสาร์ที่มีให้เลือกอิ่มอร่อยกันมากมาย และที่สำคัญคือน้ำใจของผู้จัดและน้องนักศึกษาที่มาคอยให้บริการ ให้กำลังใจนักวิ่งจนคนสุดท้ายเข้าสู่เส้นชัย รอจนนักวิ่งคนสุดท้ายเข้าเส้นชัย หากเราเป็นนักวิ่งคนสุดท้ายที่เข้าเส้นชัยในวันนั้น บอกได้เลยว่าไม่ผิดหวังจริงๆ

สุดท้ายอยากบอกว่าอยากให้สนามนี้อยู่คู่ไปกับนักวิ่งต่อไปนะคะ อย่าเพิ่งหมดกำลังใจไปเสียก่อน อย่าเพิ่งท้อ ทุกสิ่งมันพลาดกันได้ ครั้งแรกมันย่อมผิดพลาดเราให้อภัยกัน ครั้งต่อไปย่อมดีกว่าเก่าแน่นอนจ้า

12.2.49

สุวรรณภูมิมินิมาราธอน รวมพลคนรักการบิน

ชื่องาน: สุวรรณภูมิมินิมาราธอน รวมพลคนรักการบิน
วันที่: 11 กุมภาพันธ์ 2549
สถานที่: สนามบินสุวรรณภูมิ ลาดกระบัง กรุงเทพฯ
สรุปผลการประเมิน: 71 คะแนน พอใช้ได้

เส้นทางการเดิน-วิ่ง:
เส้นทางการวิ่งสนามนี้อยากบอกว่าบรรยากาศดีที่สุดเท่าที่ผ่านมาของงานวิ่งหลายๆงานในกรุงเทพเนื่องจากวิ่งบริเวณส่วนที่เคยถูกเรียกว่าเป็นชานเมืองกรุงเทพ อากาศปลอดโปร่งมาก แถมเส้นทางการวิ่งเป็นเส้นทางที่เพิ่งทำการก่อสร้างเสร็จ เป็นถนนคอนกรีตสำหรับเข้าสู่อาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินแห่งใหม่ของประเทศไทยซึ่งจะเปิดใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ เส้นทางวิ่งไปผ่านอาคารต่างๆที่จะเป็นสำนักงานของสายการบิน อาคารผู้โดยสาร หอบังคับการแล้วอ้อมมาเข้าเส้นชัย ณ จุดสตาร์ทอีกครั้ง

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
สนามนี้เป็นสนามที่สวยงาม คิดว่ามีโอกาสไม่มากนักที่จะให้วิ่งกันบ่อยๆ เพื่อเป็นเกียรติประวัติครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะได้วิ่งสนามดีๆเช่นก่อนเปิดใช้ ก็นับว่าดีไม่น้อยทีเดียว แต่เนื่องจากสนามนี้เก็บค่าสมัครแพงกว่าปกติซึ่งระยะมินิจะอยู่ที่ราคา 200 บาท แต่งานนี้เก็บ 250 บาท งานวิ่งที่มีรูปแบบเช่นนี้นักวิ่งก็คงต้องพิจารณาเอาละกันระหว่างเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อแลกกับการมีประสบการ์ณการวิ่งในสถานที่ซึ่งจะไม่เปิดให้วิ่งกันได้ง่ายๆ แต่งานนี้ก็มีนักวิ่งบางท่านไม่พร้อมที่จะจ่าย 250 บาทแต่ก็ไม่ยอมที่จะเสียโอกาสไหนๆก็มาถึงสนามแล้วก็ลงวิ่งแบบไม่ติดเบอร์ก็มี ขอวิ่งเก็บบรรยากาศก็แล้วกัน

คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
งานนี้คงยากที่จะแนะนำผู้จัดเพราะดูเหมือนงานนี้เป็นการจัดเพื่อหารายได้จริงๆ จัดเพียงครั้งเดียวคงไม่จัดอีกแล้วหรือเปล่า? อันนี้ไม่แน่ใจ ค่าสมัคร 250 ถึงแม้จะสูงกว่าปกตินิดหน่อยคงไม่เป็นไรสำหรับนักวิ่งทั่วไป แต่ราคาสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่สนใจน่าจะมีบ้างเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม มาออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งในบริเวณสถานที่การแข่งขันแห่งนั้นสถาบันการศึกษา โรงเรียนมีมากแต่ไม่ค่อยเห็นเข้ามามีส่วนร่วมบ้างเลย งานนี้อยากบอกเพียงว่างานวิ่งงานหนึ่งลงทุนไปตั้งมากมาย อยากให้ผู้จัดหวังกำไรทางสังคมมากขึ้น นอกเหนือจากกำไรทางเศรษฐกิจ

6.2.49

ดอนบอสโกมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่4

ชื่องาน: ดอนบอสโกมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่4
วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2549
สถานที่: สนามการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หัวหมาก กรุงเทพฯ
สรุปผลการประเมิน: 75 คะแนน ใช้ได้ เกือบดี

เส้นทางการเดิน-วิ่ง:
เส้นทางการวิ่งดอนบอสโก วิ่งวนสนามกีฬารัชมังคลากีฬาสถาน แล้วก็เลี้ยวออกด้านหลังสนามกีฬาวิ่งสู่ถนนพระรามเก้า จากพระรามเก้าตรงไปเรื่อยๆก็เข้าสู่ถนนศรีนครินทร์ เลี้ยวซ้ายเพื่อไปออกถนนกรุงเทพกรีฑา เข้าถนนำกรุงเทพกรีฑาแล้ววิ่งกลับผ่านสนามกีฬาฯ สำหรับมินิมาราธอนก็เข้าสู่เส้นชัยได้เลยส่วนฮาล์ฟก็วิ่งอีกรอบแล้วกลับเข้าสู่เส้นชัย เส้นทางก็เป็นทางเรียบที่ปกติใช้เป็นเส้นทางการสัญจรไปมา ก็มีรถวิ่งไปมาบ้าง แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลตลอดเส้นทาง

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
เนื่องเส้นทางการแข่งขันเป็นการวิ่งในกรุงเทพ ดังนั้นอยากให้นักวิ่งพิจารณเส้นทางการวิ่งทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน ควรหลีกเลี่ยงการวิ่งบนถนนที่มีการจราจรพลุกพล่านถึงแม้ผู้จัดมีความพยายามเพียงใดก็ตามในการปิดถนน แต่จะให้ปิดร้อยเปอร์เซนต์เป็นไปได้ยากพอควร ถึงแม้จะมีการปิดกั้นรถแต่สภาพอากาศก็ไม่เหมาะที่จะออกมาวิ่งเพื่อสุขภาพเท่าใดนัก ไม่ใช่เฉพาะสนามนี้แต่ที่กล่าวนี้รวมถึงทุกๆสนามที่จัดขึ้นในกรุงเทพมหานคร

นอกจากนั้นอีกเรื่องที่อยากฝากไว้ การเป็นนักวิ่งเพื่อสุขภาพที่ดีควรมองและพิจารณาว่าวิ่งอย่างไรเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพตนเอง ไม่ใช่ตะบี้ตะบันวิ่งอย่างเดียว ในบางครั้งเราก็ต้องยอมรับว่าความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากผู้จัดเอง หรือเหตุการ์ณที่ไม่คาดคิด ในช่วงไหนที่มืดระวังได้ก็ควรระวัง อุบัติเหตุหากเกิดขึ้นแล้วก็ไม่มีใครรับผิดชอบให้ท่านได้ “จะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ หากเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บจากการแข่งขัน” ทุกครั้งที่ท่านเขียนใบสมัครก็จะเห็นประโยคนี้ ดังนั้นอย่าวิ่งอย่างเดียว

คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
การพัฒนาจากมินิมาราธอน 3 ครั้ง มาเป็นมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่4 ถือว่าเป็นการพัฒนาและความตั้งใจของผู้จัด เราก็ต้องยอมรับความจริงใจที่จะพัฒนางานวิ่งดอนบอสโกของผู้จัดจริงๆที่แสดงให้นักวิ่งได้เห็นกัน แต่เนื่องจากการจัดวิ่งในกรุงเทพเพื่อให้ได้บรรยากาศดีๆ ความปลอดภัยสูงๆแก่นักวิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้จัดจึงต้องพบกับปัญหาอุปสรรคหลายๆประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนเส้นทางตามที่ได้ลงไว้ในโบรชัวร์เพื่อความปลอดภัยของนักวิ่ง ปัญหาการปิดถนน เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นมินิ-ฮาล์ฟ ครั้งที่ 4 นี้ก็จะเป็นบทเรียนให้กับผู้จัดได้ไม่น้อยทีเดียว สิ่งหนึ่งที่อยากฝากผู้จัดในครั้งต่อไป การจัดวิ่งในกรุงเทพฯค่อนข้างเป็นอะไรที่ยุ่งยากมาก หากผู้จัดยังจะดำเนินการจัดเป็นมินิ-ฮาล์ฟมาราธอนต่อไป การเลือกสถานที่การแข่งขันนอกเขตกรุงเทพฯจะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะดูจากทีมงานแล้วทำงานกันได้ดี แต่หากไม่ต้องการเปลี่ยนสถานที่ผู้จัดคงต้องลดระยะการแข่งขันลงเพื่อให้นักวิ่งมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นให้สมกับเป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพ สุดท้ายขอขอบคุณทีมงานดอนบอสโกมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน สำหรับความตั้งใจจริงที่จะพัฒนางานวิ่งนี้ ด้วยความตั้งใจนี้เชื่อว่างานนี้จะได้รับการสนับสนุนจากนักวิ่งในโอกาสต่อไปแน่นอน

30.1.49

สัตหีบวิทยาคมมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 2

ชื่องาน: สัตหีบวิทยาคมมินิ-ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 2
วันที่: 29 มกราคม 2549
สถานที่: โรงเรียนสัตหีบวิทยาคม จ.ชลบุรี
สรุปผลการประเมิน: 80 คะแนน ดีแนะนำว่าน่าไปวิ่ง

เส้นทางการเดิน-วิ่ง:
สำหรับระยะฮาล์ฟ 21 K เส้นทางเป็นถนนลาดยาง มีจุดเริ่มต้นและเส้นชัยอยู่ในบริเวณโรงเรียนสัตหีบวิทยาคม จากโรงเรียนเลี้ยวซ้ายออกสู่ถนนสายหลักสุขุมวิทซึ่งถูกปิดเพื่อนักวิ่งโดยเฉพาะ จากนั้นเลี้ยวซ้ายอีกครั้งวิ่งไปเรื่อยๆ ระหว่างเส้นทางก็มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้ความสะดวกตลอดเส้นทาง เลี้ยวขวาผ่านวิหารเซียน จากทางเรียบก็ขึ้นเนินสูงงง....เกือบโลเห็นจะได้ แล้วไปกลับตัวหน้าเขาชีจรรย์ ซึ่งมีพระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผา บรรยากาศเงียบสงบ ทิวทัศน์สองข้างทางก็ธรรมชาติดี อากาศเย็นสบาย เหมาะกับการวิ่งเพื่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
สนามนี้เป็นสนามวิ่งที่มีเส้นทางสวยงาม ประกอบกับความท้าทายเล็กๆสำหรับระยะฮาล์ฟที่ต้องขึ้นเนิน แต่ด้วยบรรยากาศที่สวยงามก็เป็นกำลังใจให้นักวิ่งไม่เหนื่อยเลย เส้นทางวิ่งสนามนี้เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี ดังนั้นนักวิ่งที่ชอบวิ่งไป เที่ยวไป กินไป สนามนี้เป็นสนามที่ดี น่าไปวิ่งมาก การเดินทางก็สะดวก แถมผู้จัดก็มีบริการห้องพักให้นักวิ่งฟรีแม้จะไม่เลิศหรูอลังการมากนัก ห้องน้ำก็พร้อมรับนักวิ่งจำนวนมาก หากใครต้องการที่พักแบบสบายๆ ที่พัก โรงแรมใกล้ๆก็มีให้เลือกมากมาย นอกจากนั้นผู้จัดยังเล็งเห็นความสำคัญของการออกกำลังกายและได้รับการสนับสนุนจากชุมชนเป็นอย่างดี เรียกว่ามางานนี้ไม่ผิดหวัง

คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
เป็นการจัดงานที่เตรียมพร้อมได้เป็นอย่างดีในหลายๆด้าน สิ่งหนึ่งที่อยากฝากผู้จัดเอาไว้เนื่องจากเส้นทางที่ใช้ในการแข่งขันเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยว ก็อยากให้ผู้จัดได้ตระหนักถึงขยะ แก้วน้ำจากนักวิ่ง ควรมีถังขยะรองรับหลังจากจุดให้น้ำเพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกที่ดีให้กับนักวิ่งเพื่อสุขภาพต่อไปในอนาคต ส่วนอื่นๆ ก็ขอให้ผู้จัดได้รักษาคุณภาพดีๆของงานเอาไว้ ส่วนคำแนะนำจากนักวิ่งหลายๆท่านในการจัดระยะมาราธอน ควรพิจารณาถึงความพร้อมและศักยภาพของทีมงานว่าสามารถรองรับงานที่จะเพิ่มมากขึ้นได้หรือไม่เพราะการจัดมาราธอนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่ใช่เพียงเส้นทางที่สวยงามเท่านั้น ถึงแม้จะเพียงแค่ฮาล์ฟแต่เป็นฮาล์ฟแห่งคุณภาพนักวิ่งก็ประทับไม่รู้ลืม

15.1.49

สสส.จอมบึงมาราธอน

ชื่องาน: สสส.จอมบึงมาราธอน
วันที่: 15 มกราคม 2549
สถานที่: มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี
สรุปผลการประเมิน: 83 คะแนน ดีแนะนำว่าน่าไปวิ่ง

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: จุดเริ่มต้นและเส้นชัยอยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เส้นทางโดยส่วนใหญ่ เป็นทางลาดยางเรียบ ถนนค่อนข้างโล่ง การสัญจรไปมาของรถมีน้อย จะมีก็รถอีแต๋นที่ออกไปทำไรของชาวบ้านบ้าง ระหว่างเส้นทางการวิ่งมีกองเชียร์ของนักเรียนและชาวบ้านอยู่เป็นระยะ เรียกว่าคลายเหงาให้กับนักวิ่งมาราธอนไปได้เยอะทีเดียว ผ่านสวน ทุ่งนา ไร่อ้อยที่สัมผัสได้ถึงกลิ่นไอของธรรมชาติ และมีเนินเขาสัก 2 ลูกให้นักวิ่งมาราธอนได้ออกแรงกันนิดๆหน่อยๆ เส้นทางการแข่งขันจอมบึงมาราธอนเป็นเส้นทางเดิมเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมาแม้จะไม่มีการเปลี่ยนเส้นทางก็ตาม แต่ด้วยบรรยากาศของกองเชียร์ที่หลากสีสัน ความมีน้ำใจของคนในชุมชนจึงทำให้จอมบึงมาราธอนเป็นมาราธอนที่ประทับใจนักวิ่งได้เป็นอย่างดี

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
จอมบึงมาราธอนถือว่าเป็นมาราธอนที่มากด้วยน้ำใจไมตรีที่มีต่อผู้มาเยือนทุกคน เป็นสนามที่เหมาะกับนักวิ่งทุกระดับตั้งแต่นักวิ่งน้องใหม่ที่ไม่เคยลงสนามมาก่อน สนามนี้สามารถทำให้นักวิ่งน้องใหม่ประทับใจได้ไม่รู้ลืม กับระยะทางที่มีให้เลือกถึง 3 ระยะ ไม่ว่าจะเป็นมินิ 10 กิโล ฮาล์ฟ 21 กิโล และมาราธอน 42.195 กิโล เลือกได้ตามความต้องการ สำหรับนักวิ่งแนวหน้า ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ ถือว่าเป็นถ้วยรางวัลแห่งเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจที่นักวิ่งหลายๆคนหมายปอง งานนี้ก็ไม่ได้มีเฉพาะนักวิ่งโอเวอร์ออล นักวิ่งเก่งในแต่ละรุ่นอายุก็มีโอกาสที่จะได้มาครองเช่นกัน ดังนั้นสนามนี้จึงเป็นสนามมาราธอนที่เหมาะกับนักวิ่งเพื่อสุขภาพทุกระดับ และควรให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก

คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
แม้จะไม่ใช่มาราธอนนานาชาติแต่ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นมาราธอนของประเทศได้ทีเดียว ถ้าพูดถึงจอมบึงมาราธอนแทบจะบอกได้ว่าไม่มีนักวิ่งคนใดไม่รู้จักสนามนี้ ถึงแม้จัดติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปีสิ่งที่ดีหลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็นการต้อนรับ การจัดการแข่งขัน สิ่งดีๆมีคุณภาพยังคงมีอยู่เสมอ เป็นงานวิ่งที่เหมาะจะเป็นตัวอย่างให้กับผู้จัดงานวิ่งอื่นๆได้เป็นอย่างดี จุดเด่นของจอมบึงมาราธอนคือ แรงใจแรงเชียร์ที่มีให้กับนักวิ่ง นักวิ่งไม่เหงา เป็นงานวิ่งที่รักษาคุณภาพความดีเอาไว้อย่างเหนียวแน่น แล้วค่อยๆพัฒนาจุดเล็กๆน้อยๆไปทีละนิด อาทิ การนำชิพเข้ามาใช้ ซึ่งทำให้เราเห็นได้ว่างานนี้มีการพัฒนาขึ้นแต่เอาแบบว่าไปกันช้าๆแต่ว่ามั่นคง แน่นอน ประทับใจนักวิ่งทุกระดับ การจัดมาราธอนไม่ใช่เรื่องง่ายๆก็ขอให้กับทีมงานผู้จัดมีกำลังใจ พัฒนาและจัดงานวิ่งดีๆมีคุณภาพอย่างนี้ต่อไปตราบนานเท่านาน

สสส.จอมบึงมาราธอน

ชื่องาน: สสส.จอมบึงมาราธอน
วันที่: 15 มกราคม 2549
สถานที่: มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี
สรุปผลการประเมิน: 83 คะแนน ดีแนะนำว่าน่าไปวิ่ง

เส้นทางการเดิน-วิ่ง: จุดเริ่มต้นและเส้นชัยอยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เส้นทางโดยส่วนใหญ่ เป็นทางลาดยางเรียบ ถนนค่อนข้างโล่ง การสัญจรไปมาของรถมีน้อย จะมีก็รถอีแต๋นที่ออกไปทำไรของชาวบ้านบ้าง ระหว่างเส้นทางการวิ่งมีกองเชียร์ของนักเรียนและชาวบ้านอยู่เป็นระยะ เรียกว่าคลายเหงาให้กับนักวิ่งมาราธอนไปได้เยอะทีเดียว ผ่านสวน ทุ่งนา ไร่อ้อยที่สัมผัสได้ถึงกลิ่นไอของธรรมชาติ และมีเนินเขาสัก 2 ลูกให้นักวิ่งมาราธอนได้ออกแรงกันนิดๆหน่อยๆ เส้นทางการแข่งขันจอมบึงมาราธอนเป็นเส้นทางเดิมเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมาแม้จะไม่มีการเปลี่ยนเส้นทางก็ตาม แต่ด้วยบรรยากาศของกองเชียร์ที่หลากสีสัน ความมีน้ำใจของคนในชุมชนจึงทำให้จอมบึงมาราธอนเป็นมาราธอนที่ประทับใจนักวิ่งได้เป็นอย่างดี

คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง:
จอมบึงมาราธอนถือว่าเป็นมาราธอนที่มากด้วยน้ำใจไมตรีที่มีต่อผู้มาเยือนทุกคน เป็นสนามที่เหมาะกับนักวิ่งทุกระดับตั้งแต่นักวิ่งน้องใหม่ที่ไม่เคยลงสนามมาก่อน สนามนี้สามารถทำให้นักวิ่งน้องใหม่ประทับใจได้ไม่รู้ลืม กับระยะทางที่มีให้เลือกถึง 3 ระยะ ไม่ว่าจะเป็นมินิ 10 กิโล ฮาล์ฟ 21 กิโล และมาราธอน 42.195 กิโล เลือกได้ตามความต้องการ สำหรับนักวิ่งแนวหน้า ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ ถือว่าเป็นถ้วยรางวัลแห่งเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจที่นักวิ่งหลายๆคนหมายปอง งานนี้ก็ไม่ได้มีเฉพาะนักวิ่งโอเวอร์ออล นักวิ่งเก่งในแต่ละรุ่นอายุก็มีโอกาสที่จะได้มาครองเช่นกัน ดังนั้นสนามนี้จึงเป็นสนามมาราธอนที่เหมาะกับนักวิ่งเพื่อสุขภาพทุกระดับ และควรให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก

คำแนะนำสำหรับผู้จัด:
แม้จะไม่ใช่มาราธอนนานาชาติแต่ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นมาราธอนของประเทศได้ทีเดียว ถ้าพูดถึงจอมบึงมาราธอนแทบจะบอกได้ว่าไม่มีนักวิ่งคนใดไม่รู้จักสนามนี้ ถึงแม้จัดติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปีสิ่งที่ดีหลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็นการต้อนรับ การจัดการแข่งขัน สิ่งดีๆมีคุณภาพยังคงมีอยู่เสมอ เป็นงานวิ่งที่เหมาะจะเป็นตัวอย่างให้กับผู้จัดงานวิ่งอื่นๆได้เป็นอย่างดี จุดเด่นของจอมบึงมาราธอนคือ แรงใจแรงเชียร์ที่มีให้กับนักวิ่ง นักวิ่งไม่เหงา เป็นงานวิ่งที่รักษาคุณภาพความดีเอาไว้อย่างเหนียวแน่น แล้วค่อยๆพัฒนาจุดเล็กๆน้อยๆไปทีละนิด อาทิ การนำชิพเข้ามาใช้ ซึ่งทำให้เราเห็นได้ว่างานนี้มีการพัฒนาขึ้นแต่เอาแบบว่าไปกันช้าๆแต่ว่ามั่นคง แน่นอน ประทับใจนักวิ่งทุกระดับ การจัดมาราธอนไม่ใช่เรื่องง่ายๆก็ขอให้กับทีมงานผู้จัดมีกำลังใจ พัฒนาและจัดงานวิ่งดีๆมีคุณภาพอย่างนี้ต่อไปตราบนานเท่านาน