24.6.51

ต้นโศก: โสก, โสกน้ำ (Saraca indica L.)

โสก
สกุล:
Saraca Fabaceae (Leguminosae-Caesalpinioideae)

โสกเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น หูใบหลุดร่วงง่าย บางครั้งไม่มีหูใบ ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยเรียงตรงข้าม ดอกออกเป็นช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบ ปลายกิ่งหรือตามลำต้น ดอกสมบูรณ์เพศหรือมีเพศเดียว ฐานรองดอกเป็นหลอด กลีบเลี้ยงคล้ายกลีบดอก มี 4 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ 3-9 อัน อิสระต่อกัน ยื่นเลยวงกลีบ รังไข่มีก้าน ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ผลเป็นฝักแข็ง แบน เมล็ดไม่มีเอนโดสเปิร์ม สกุล Saraca มีสมาชิก 8 ชนิดทั่วโลก การกระจายพันธุ์เฉพาะแถบเอเชียเขตร้อน ในไทย พบ 3 ชนิดหลัก คือ โสกน้ำ Saraca indica L., โสกเหลือง Saraca cauliflora Baker และ โสกเขา Saraca declinata (Jack.) Miq.

โสก, โสกน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Saraca indica L.
ชื่อวงศ์ : Leguminosae-Caesalpinioideae
ชื่อสามัญ : Asoke tree, Saraca, Asoka
ชื่อพื้นเมือง : กะแปะห์ไอย์ ชุมแสงน้ำ ตะโดลีเต๊าะ ส้มสุก โสก อโศกน้ำ

โสกเป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ประมาณ 25 ม. แกนกลางใบยาว 10-50 ซม. ใบย่อยมี 1-7 คู่ ใบย่อยรูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอก ยาว 5-30 ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนใบกลม รูปหัวใจหรือรูปลิ่ม ก้านใบย่อยยาว 0.3-0.5 ซม. ช่อดอกยาว 3-15 ซม.กว้างประมาณ 10-20 ซม. ก้านดอกยาว 1-2.5 ซม. ฐานรองดอกยาว 0.7-1.6 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่แกมรูปรี ยาว 0.5-1.2 ซม. สีส้มแดง เกสรเพศผู้มี 6-8 อัน รังไข่มีขนตามขอบ ฝักรูปไข่ หรือรูปรีแกมขอบขนาน ยาว 6-25 ซม. ปลายเป็นจะงอยสั้นๆ ก้านฝักยาวประมาณ 0.5 ซม. เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก เมล็ดรูปไข่ แบน มี 1-3 เมล็ด โสกน้ำมีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และชวา ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ระดับความสูงจนถึง 900 เมตร

อนึ่ง เดิมใช้คำว่า อโศกหรือโศก แต่ความหมายมีแต่ความทุกข์ ความเศร้า จึงเปลี่ยนเป็น โสก แทน และไม่ใช่ต้นโศกของอินเดีย ซึ่งเป็นชนิด Saraca asoka (Roxb.) de Wilde หรือ Asoka tree ที่ชาวอินเดียนิยมใช้บูชาพระและถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรัก

ต้นโศก: โสกเหลือง (Saraca cauliflora)




โสกเหลือง

ชื่ออื่น: ศรียะลา ,โสกใหญ่ (ภาคใต้), โสกป่า, โสกน้ำ
ชื่อสามัญ : Yellow Saraca
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Saraca cauliflora Baker
ชื่อพ้อง: Saraca thaipingensis Prain
วงศ์: LEGUMINOSAE - CAESALPINIOIDEAE

โสกเหลืองเป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 10-15 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดกลมทึบ โตช้า เปลือกเรียบ สีเทาอมน้ำตาล มีช่องระบายอากาศเป็นตุ่มกระจายทั่วลำต้น
ใบ ใบประกอบแบบขนนก ปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อย 2-7 คู่ เรียงตรงข้าม ใบรูป รูปรี รูปขอบขนาน แกมรูปใบหอกหรือรูปไข่ กว้าง 3-9 ซม. ยาว 7-32 ซม. ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบเรียว ผิวใบด้านบนมองเห็นเส้นแขนงใบเป็นร่องลึกชัดเจนข้างละ 10-12 เส้น ก้านใบย่อยยาว 3-5 มม.
ดอก สีเหลืองสด มีกลิ่นหอม ออกรวมเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่นที่ปลายกิ่งและลำต้น ช่อดอกกว้าง 15-40 ซม. ใบประดับร่วงง่าย กลีบเลี้ยง 4 กลีบ ไม่มีกลีบดอก ดอกบานไม่พร้อมกัน ดอกบานเต็มที่กว้าง 1-1.5 ซม.
ผล เป็นฝักแห้งแตกแบน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ผิวสีแดงปนน้ำตาล ปลายฝักโค้งทั้งสองด้าน กว้าง 3.5-8 ซม. ยาว 15-40 ซม. เมล็ดรูปไข่แกมรูปขอบขนาน มี 2-3 เมล็ด
ระยะออกดอกประมาณเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม พบขึ้นในป่าดิบและบริเวณริมน้ำ
ประโยชน์ : ปลูกเป็นไม้ประดับ ด้านสมุนไพร ดอก แก้ไอ ขับเสมหะ

โสกเหลืองมีเขตการกระจายพันธุ์ในพม่าตอนใต้ คาบสมุทรมลายู และชวา ในไทยพบทางภาคเหนือแถบที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงมาทางภาคใต้แถบจังหวัดภูเก็ต ตรัง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบชื้น ระดับความสูงจนถึงประมาณ 1000 เมตร

ต้นโศก: โสกเขา (Saraca declinata )

โสกเขา
ชื่อพื้นเมือง : เข็มแดง (หนองคาย); ชุมแสงควน (ยะลา); โรก (กาญจนบุรี); สมโสก (นครราชสีมา, ตราด); สาย (สะตูล); โสกดอน (ตรัง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Saraca declinata (Jack.) Miq.
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE

โสกเขาเป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้จนถึงประมาณ 30 ม. แกนกลางใบยาว 10-50 ซม. ใบย่อย 3-7 คู่ ใบย่อยรูปไข่หรือรูปใบหอก ยาว 8-30 ซม. ปลายแหลมหรือกลม โคนใบรูปลิ่มหรือกลม ก้านใบย่อยยาว 0.3-1 ซม. ช่อดอกยาว 10-30 ซม. กว้าง 15-30 ซม. ใบประดับรูปไข่ปลายแหลม ยาว 0.3-1.2 ซม. ใบประดับย่อยรูปไข่หรือกลม ยาว 0.4-1.8 ซม. ติดทน สีแดง ก้านดอกยาว 2-3 ซม. ฐานรองดอกยาว 1-3 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่หรือไข่กลับ ยาว 0.5-1.5 ซม. สีแดงหรือชมพู เกสรเพศผู้ 3-5 อัน รังไข่มีขนตามขอบ ฝักรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาว 10-30 ซม. ปลายโค้ง เป็นจะงอย ยาวประมาณ 1 ซม. เมล็ด 6-8 เมล็ด ช่วงเวลาที่ออกดอก คือเดือน ธันวาคม-เมษายน

โสกเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในพม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว สุมาตรา ชวา และหมู่เกาะ Lesser Sunda Islands ในไทยพบทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามริมลำธารหรือที่ลาดชันในป่าดิบชื้น ระดับความสูงจนถึงประมาณ 800 เมตร
นอกจากความสวยงามของดอกแล้ว รากของโสกเขายังมีสรรพคุณทางยา ใช้ต้มดื่มแก้พิษมึนเมาได้

ต้นโศก: อโศกอินเดีย (Polyalthia longifolia)

อโศกอินเดีย
ชื่อสามัญ : Mast tree , Cemetery tree , Asoke tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyalthia longifolia Benth. & Hook. f. var. pandurata
ชื่อวงศ์ : ANNONACEAE

ลักษณะ: เป็นไม้ต้น สูง 5-25 เมตร เรือนยอดเป็นรูปปิรามิดสูง กิ่งก้านลู่ลงไม่ผลัดใบ เปลือกสีน้ำตาลเรียบ ใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบรูปหอกแคบ ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือสอบ ขอบใบหยักเป็นคลื่น ผิวใบเกลี้ยง ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวนวล ดอกสีครีมหรือสีเขียวอมเหลือง ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ผลรูปไข่ออกเป็นพวง ขึ้นได้ในดินทั่วไป ที่มีความชื้นปานกลาง มีแสงแดดเต็มวัน นิยมขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดหรือตอนกิ่ง

ออกดอก : เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม
ประโยชน์ : ปลูกตามแนวรั้ว กำบังสายตา กันลม กันเสียง กันฝุ่น

ดอกแก้ว (Murraya paniculata)


ชื่อสามัญ: Adaman Satinwood, Chinese box tree, Orange jasmine, Cosmetic Bark Tree
ชื่อวิทยาศาสตร์: Murraya paniculata
วงศ์: RUTACEAE
ชื่ออื่น: แก้ว, แก้วขาว (ภาคกลาง), แก้วขี้ไก่ (ยะลา), แก้วพริก, ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ)

ลักษณะทั่วไป
แก้วเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางลำต้นมีความสูงประมาณ5-10 เมตรเปลือกลำต้นสีขาวปนเทาลำต้นแตกเป็น สะเก็ดเป็นร่องตามยาวการแตกกิ่งก้านของทรงพุ่มไม่ค่อยเป็นระเบียบใบออกเป็นช่อเป็นแผงออกใบเรียงสลับกันช่อหนึ่งประกอบด้วยใบย่อยประมาณ 4-8 ใบใบเป็นมันสีเขียวเข้มขยี้ดูจะมีกลิ่นฉุนแรงขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อยขนาดของใบกว้าง ประมาณ 2 - 4 เซนติเมตร ยาวประมาณ3-6 เซนติเมตรออกดอกเป็นช่อใหญ่ช่อสั้นออกตามปลายกิ่งหรือยอดช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 5 - 10 ดอก แต่ละดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 2 - 3 เซนติเมตร ผลรูปไข่ รี ปลายทู่ มีสีส้ม ภายในมีเมล็ด 1 - 2 เมล็ด

คนไทยโบราณเชื่ว่า บ้านใดปลูกต้นแก้วไว้ประจำบ้านจะทำให้คนในบ้านมีความดี มีคุณค่าสูง เพราะคำว่า แก้ว นั้นหมายถึง สิงที่ดีมีค่าสูงเป็นที่นับถือบูชาของบุคคลทั่วไปซึ่งโบราณได้เปรีบเทียบของที่มีค่าสูงนี้เสมือนดั่งดวงแก้ว นอกจากนี้คนโบราณยังมีความเชื่ออีกว่า บ้านใดปลูกต้นแก้วไว้ประจำบ้านจะทำให้เป็นคนที่มีจิตใยบริสุทธิ์ มีความเบิกบาน เพราะแก้วคือความใสสะอาดความสดใสนอกจากนี้ดอกแก้วยังมีสีขาวสะอาดสดใสมีกลิ่นหอมนวลไปไกลและยังนำดอกแก้วไปใช้ในพิธีบูชาพระในพิธีทางศาสนาได้เป็นสิริมงคลยิ่งอีกด้วย

เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นแก้วไว้ทางทิศตะวันออก ผู้ปลูกควรปลูกในวันพุธ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เอาประโยชน์ทั่วไปทางดอกให้ปลูกในวันพุธ การปลูกแบ่งเป็น 2 วิธี
1. การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน คนไทยโบราณนิยมปลูกไว้เพื่อเป็นแนวรั้วบ้าน ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 2 ผสมดินปลูก การปลูกแบบนี้สามารถปลูกเป็นกลุ่ม หรือเป็นแถวก็ได้และสามารถตัดแต่งบังคับทรงพุ่มได้ตามความต้องการของผู้ปลูก
2. การปลูกในกระถางเพื่อประดับภายนอกอาคาร ควรใช้กระถางทรงสูงขนาด 12 - 16 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 1 ผสมดินปลูก และควรเปลี่ยนกระถาง 1 - 2 ปี/ ครั้ง หรือตามความเหมาะสมของการเจริญเติบโตของทรงพุ่มเพราะการขยายตัวของรากแน่นเกินไปและเพื่อเปลี่ยนดินปลูกใหม่ทดแทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไป



ต้นแก้ว ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง ต้องการน้ำปริมาณปานกลาง ควรให้น้ำ 3 - 5 วัน / ครั้ง ดินร่วนซุย ดินร่วนทราย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1 - 2 กิโลกรัม/ต้น ใส่ปีละ 4 - 6 ครั้ง หรือใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 15-15-15 อัตรา 200- 300 กรัม/ต้น ใส่ปีละ 4 - 6 ครั้ง

การขยายพันธ์ โดยการเพาะเมล็ดและการตอน ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลง เพราะเป็นไม้ที่มึความทนทานต่อสภาพธรรมชาติพอสมควร

ข้อมูลอื่นๆ : ใบสดที่โตเต็มที่ มีรสปร่า หอม
ขนาดและวิธีใช้ : ใช้ใบสด 15 ใบย่อย หรือน้ำหนัก 1 กรัม ตำพอแหลก ใส่ในเหล้าโรงประมาณ 2 ช้อนชา หรือ 8 มิลลิลิตร ทิ้งไว้ 3 - 5 นาที นำน้ำยาทาบริเวณที่ฟันปวด
สรรพคุณ : บรรเทาอาการปวดฟัน การที่ใบแก้วสด สามารถบรรเทาอาการปวดฟันได้ เนื่องจากมีน้ำมันหอมระเหยที่ออกฤทธิ์เป็นยาชา