26.1.51

ประเพณีผีตาโขน อ.ด่านซ้าย จ.เลย

ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนนั้น นับเป็นประเพณีที่ชาวด่านซ้ายและชาวบ้านอำเภอใกล้เคียงได้สืบสานกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ แต่มีการเล่นการจัดกันอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในเขตอำเภอด่านซ้าย จนกระทั่งกลายเป็นประเพณีที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยการละเล่นผีตาโขนนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีบุญหลวง ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่น ที่รวมเอา "งานบุญพระเวส" (ฮีตเดือนสี่) และ "งานบุญบั้งไฟ" (ฮีตเดือนหก) เข้าไว้เป็นงานบุญเดียวกัน งานบุญพระเวสนั้นเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อฟังเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งเชื่อว่าถ้าใครได้ฟังเทศน์ครบทั้ง 13 กัณฑ์จะได้อานิสงค์แรงกล้า บันดาลให้เกิดไปพบพระศรีอริยเมตไตรย์ในชาติหน้า

ส่วนงานบุญบั้งไฟเป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อบูชาอารักษ์หลักเมืองและถือเป็นประเพณีการแห่ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งในงานบุญหลวงนี้จะมี "การละเล่นผีตาโขน" ช่วยสร้างความสนุกสนานครื้นเครงในขบวนแห่ด้วย การละเล่นผีตาโขนถือเป็นการแสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอันดีงามน่าภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เพราะปัจจุบันมีอยู่เพียงแห่งเดียวในเมืองไทย ชาวด่านซ้ายนั้นจะรอคอยให้ถึงวันงานอย่างใจจดใจจ่อ และตระเตรียมทำหน้ากากผีตาโขนกันอย่างประณีตบรรจงให้สวยงาม เหมือนจะเป็นการประกวดประขันประชันฝีมือกันอย่างไม่มีใครยอมใคร โดยหน้ากากผีตาโขนนั้นมักทำจากหวดนึ่งข้าวเก่าๆ นำมาทำเป็นโครง ตกแต่งติดจมูกแหลมโง้งยื่นยาวออกมา แล้วทาสีพื้นก่อนเขียนวาดลวดลายอันอ่อนช้อยงดงามด้วยสีสันสดใส ผีตาโขนที่จะเข้าขบวนแห่นั้น แบ่งออกได้เป็นสองขนาด คือ ผีตาโขนใหญ ่ และ ผีตาโขนเล็ก
สำหรับผีตาโขนใหญ่นั้นจะจัดทำขึ้นเพียง 2 ตัว คือ หญิง 1 ชาย 1 เท่านั้น ผีตาโขนใหญ่จะทำขึ้นจากโครงไม้ไผ่คล้ายกับสุ่มไก่ขนาดใหญ่ จากนั้นก็ตกแต่งด้วยผ้าจนมองไม่เห็นโครงไม้ไผ่ เมื่อเข้าขบวนแห่ก็จะมีคนเข้าไปอยู่ภายในเพื่อยกโครงไม้ไผ่เคลื่อนไปตามขบวน ลักษณะพิเศษของผีตาโขนใหญ่อีกอย่างหนึ่ง คือ จะทำเครื่องเพศหญิง ชายไว้อย่างชัดเจน ผีตาโขนใหญ่นี้บุคคลทั่วไปไม่ได้รับอนุญาตจัดทำขึ้น มีเพียงกลุ่มคนที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำมาหลายชั่วอายุคนเท่านั้น และก่อนทำก็จะต้องมีการขอขมาสิ่งศักดิ์ก่อน จึงจะสามารถขึ้นโครงร่างได้















สำหรับผีตาโขนเล็ก หรือ ผีตาโขน ที่เราจะพบเห็นในขบวนแห่ทั่วไปนั้น ชาวบ้านในละแวกบ้านใกล้เคียงจะจัดทำขึ้นเพื่อเข้าร่วมขบวนแห่ เดิมทีนั้นจะมีเฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่ร่วมขบวนแห่ แต่ปัจจุบันมีการจัดขบวนของทางโรงเรียนซึ่งมีนักเรียนหญิงแต่งกายเป็นผีตาโขนเข้าร่วมด้วย การแต่งกายของผีตาโขนนั้น จะนำเศษผ้ามาเย็บเป็นชุดเพื่อปิดบังร่างกาย และสวมหน้ากากที่ทำขึ้นจากโคนของทางมะพร้าว นำมาตัดแต่งให้เป็นรูปหน้า รูปตา และเติมจมูกยาว ๆ คล้ายกับงวงช้าง ทำการวาดลวดลายเติมสีสันอย่างสวยงาม ส่วนหัวที่ทำคล้ายเขาของผีตาโขนนั้น จะนำเอาหวดนึ่งข้าวที่ทำด้วยไม้ไผ่มาเย็บต่อจากกาบมะพร้าวนั่นเอง และสิ่งที่ ขาดไม่ได้อีกอย่างคือ "หมากกะแหล่ง" หรือ กระดึงสำหรับผูกคอวัว นำมาห้วยเป็นพวกไว้ที่เอว เพื่อเวลาเดินจะเกิดเสียงดังตลอดเวลา ปัจจุบันมีการนำกระป๋องมาบรรจุลูกหินเผื่อใช้แทนหมากกะแหล่ง ส่วนชุดของผีตาโขนนั้นก็มักจะใช้เสื้อผ้า มุ้ง ผ้าห่ม หรือเศษผ้าเก่าๆมาตัดเย็บเล่นสีสันลวดลาย หรืออาจมีการระบายสีเพิ่มเติม โดยชุดผีตาโขนและหน้ากากผีตาโขนนั้นจะทำกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และในระยะหลังๆนี้มีการลงทุนตัดชุดกันอย่างสวยงาม ซึ่งพอถึงวันเล่นผีตาโขน เมื่อทุกคนสวมใส่ชุดเข้าไปและสวมหน้ากากก็จะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ทุกตนก็จะกลายเป็นผีหมด ทั้งผีเล็กผีใหญ่ รวมทั้งผีตัวน้อยๆ ลงไปถึงผีตัวจิ๋วระดับอนุบาล ก็จะสนุกสนานกับการเต้นรำเดินหลอกหลอน ล้อเล่นกับผู้คนไปทั่วทั้งเมือง เรียกว่าสนุกสนานกันอย่างสุดๆ เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไม่ต้องวางมาด ไม่ต้องเก๊กหล่อเหมือนเช่นทุกๆวัน จึงเป็นงานที่สนุกสนานกันอย่างสุดๆของบรรดาผีหนุ่มๆ ที่มักชอบเดินเที่ยวแถเข้าไปเต้นหลอกหลอนเต้นรำต้อนสาวๆ


อาวุธประจำกายของผีตาโขนเป็น ดาบไม้ แต่มีไม่น้อยที่นิยมถือ ปลัดขิก ขนาดใหญ่ เพื่อใช้เย้าแหย่สาว ๆ ที่มาชมขบวนแห่เป็นที่สนุกสนานโดยไม่มีการถือโกรธกันแต่อย่างใด ไม่ถือเป็นเรื่องหยาบ หรือลามกเพราะมีความเชื่อกันว่าหากเล่นตลกและนำอวัยวะเพศชายหญิงมาเล่นมาโชว์ในพิธีแห่และงานบุญบั้งไฟจะทำให้ พญาแถน พอใจ ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์
ในขบวนแห่ผีตาโขนนั้น ชาวด่านซ้ายจะร่วมกันสร้างผีตาโขนใหญ่ เป็นผีตาโขนชาย และผีตาโขนหญิง ซึ่งจะมีขนาดสูงใหญ่โดดเด่นแห่ไปในขบวน และคงไม่ต้องบอกว่าผีตาโขนใหญ่ตนไหนเป็นผีตาโขนชาย ตนไหนเป็นผีตาโขนหญิง เพราะแต่ละตนจะมีอวัยวะประจำกายบ่งบอกเสร็จสรรพ ซึ่งใครเห็นก็คงต้องอมยิ้ม สิ่งเหล่านี้ ความเชื่อเหล่านี้เป็นประเพณีที่สืบสานกันมาแต่ครั้งโบราณกาล ซึ่งเรามักจะเห็นสัญลักษณ์เหล่านี้ได้ตามขบวนแห่เช่นในขบวนแห่บั้งไฟ หรือขบวนแห่นางแมวขอฝน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการก่อเกิด สัญลักษณ์ของความเพิ่มพูน สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นความรื่นเริงสนุกสนานบันเทิงของผู้คนในทุกยุคทุกสมัย

นอกจากการแห่ไปเป็นขบวนทั่วทั้งเมืองด่านซ้ายอย่างเป็นพิธีรีตองแล้ว บรรดาผีตาโขนก็มักจะรวมกลุ่มกัน ออกเดินหยอกล้อผู้คนที่มาเที่ยวงานไปทั่วทั้งเมืองอย่างสนุกสนาน จนมืดค่ำดึกดื่น กระทั่งเสร็จพิธีในวันสุดท้าย ซึ่งวิธีปฏิบัติในอดีตนั้น เมื่อจบงานบรรดาผีตาโขนก็จะนำหน้ากากและเครื่องแต่งกายผีตาโขนไปทิ้งและไม่มีการนำมาเล่นกันอีกจนกว่าจะถึงวันงานประเพณีในปีหน้า แต่ในปัจจุบันการทำหน้ากากผีตาโขน และเครื่องแต่งกายผีตาโขนนั้นมีการลงทุนใช้วัสดุอย่างดี ใช้ผ้าที่สวยงามตัดเย็บเป็นชุดผีตาโขน ในทางปฏิบัติจึงเปลี่ยนไป โดยจะเก็บรักษาหน้ากากและชุดผีตาโขนไว้เพื่อนำมาเล่นใหม่ในปีหน้า ใครที่ยังไม่เคยเดินทางไปชมผมอยากจะแนะนำให้ลองไปชมประเพณีอันสนุกสนานนี้สักครั้ง และคงต้องรีบตัดสินใจสักหน่อย เพราะด่านซ้ายเป็นเพียงอำเภอชายแดนเล็กๆ ของจังหวัดเลย ที่พักมีน้อยต้องรีบจองรีบหา หรือไม่ก็อาจจะเลือกพักในตัวเมืองเลย หรืออำเภออื่นๆอย่างภูเรือแล้ววิ่งรถมาชมงานก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: